รายงานสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2013 06:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงมหาดไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 — 2557 ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของนโยบาย โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับข้อเสนอแนะของผู้ว่าราชจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ตลอดจนวิธีคิดในการทำงาน ส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วม ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายบนพื้นฐานของความไว้ใจ และการให้เกียรติเพื่อสร้างบรรยากาศของการยอมรับ และเห็นคุณค่าของกระบวนการมีส่วนร่วมเสริมสร้างสันติภาพอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงภายใต้แนวคิด ดังนี้

1.1 ให้ประชาชนในหมู่บ้านเกิดความรู้สึกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาของทุกคน เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนในหมู่บ้านด้วย

1.2 ให้ทุกหน่วยงานของ มท. ใช้กระบวนการต่าง ๆ แก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของความขัดแย้ง คือ ความบาดหมางชิงชังระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา

1.3 การกระตุ้น เชิญชวน ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา หากวางเฉยไม่ให้ความร่วมมือก็จะได้รับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

1.4 กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ริเริ่มการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ปราศจากการใช้ความรุนแรง โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าภาพหลัก หรือศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับผู้นำกลุ่มต่าง ๆ และประชาชนในหมู่บ้านร่วมกันแก้ไขปัญหา

2. “เพื่อให้หมู่บ้านมีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนในหมู่บ้านมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ” โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

2.1 น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักยึดในการพัฒนาหมู่บ้าน การสร้างความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ของประชาชนในหมู่บ้าน

2.2 บริหารจัดการหมู่บ้านอย่างมีเอกภาพ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนหลักการขับเคลื่อน หลอมรวมผู้นำท้องถิ่นผู้นำศาสนา ผู้นำตามธรรมชาติ เพื่อบริหารงานหมู่บ้านในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน

2.3 สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยน รับทราบปัญหา และความต้องการของผู้มีความคิดเห็นแตกต่าง ผู้เสียหาย ผู้ได้รับผลกระทบเพื่อเสริมสร้างความข้าใจ ลดความหวาดระแวง และตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม

2.4 เสริมสร้างความเข้าใจ สร้างความไว้วางใจ ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อฟื้นคืนความไว้วางใจ ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

2.5 พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน และการเสริมสร้างเครือข่ายงานข่าวภาคประชาชน เพื่อให้หมู่บ้านมีศักยภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อย และสามารถป้องกันตนเองและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.6 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา รวมทั้งการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

2.7 เพิ่มบทบาทของประชาชน ภาคประชาสังคม กลุ่มและองค์กรในหมู่บ้านในการคุ้มครองดูแลทรัพยากรและการป้องกันแทรกซ้อนในหมู่บ้าน

2.8 ให้ทุกหน่วยงาน เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป

3. หลักการสำคัญในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ

3.1 หลักการปรึกษาหารือแบบใจกว้างและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

3.2 หลักระบบข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน และมีแผนดำเนินการ

3.3 หลักคุณธรรม ความยืดหยุ่น และเคารพปกป้องความแตกต่าง

3.4 หลักการแบ่งความรับผิดชอบเป็นคุ้มบ้าน โซน

3.5 หลักการใช้ทุนของชุมชนอย่างครอบคลุม ครบถ้วน

3.6 หลัก กฎ ระเบียบ กติกาที่ชัดเจน

3.7 หลักกระบวนการกลุ่มที่เข้มแข็ง และมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้

4. เป้าหมายการขับเคลื่อนหมู่บ้านเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

4.1 เกิดความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนในหมู่บ้านด้วยกันเอง และประชาชนในหมู่บ้านกับทุกภาคส่วนภายนอกหมู่บ้าน

4.2 ขจัดความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

4.3 ขจัดอคติและความเกลียดชังระหว่างประชาชนในสังคม พหุวัฒนธรรม เกิดความปลอดภัยและความมั่นใจในอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

4.4 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะยาว

4.5 พัฒนาองค์กรในหมู่บ้านให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ

4.6 ประชาชนในหมู่บ้านมีความสงบสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กรกฎาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ