ขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557

ข่าวการเมือง Tuesday October 28, 2014 18:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 (ช่วงประสบภัยเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2557)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 จำนวน 26 จังหวัด รวม 10 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย อัคคีภัย ภัยอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชระบาด ภัยหนาว ภัยฝนทิ้งช่วง ภัยพายุและคลื่นลมแรง และปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำ เกษตรกรจำนวน 12,860 ราย วงเงินขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 154,823,741 บาท (ด้านพืช เกษตรกรจำนวน 12,794 ราย วงเงิน 152,085,121 บาท ด้านประมง เกษตรกรจำนวน 66 ราย วงเงิน 2,738,620 บาท) โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมง กษ. ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและรวบรวมส่งสำนักงบประมาณ (สงป.) พร้อมทั้งจัดทำคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณในคราวเดียวกันและให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมสำเนาส่ง ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. กษ. มีความประสงค์ขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 รวม 10 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย อัคคีภัย ภัยอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชระบาด ภัยหนาว ภัยฝนทิ้งช่วง ภัยพายุและคลื่นลมแรง และปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำ ช่วงประสบภัยเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 ในเขตพื้นที่รวม 26 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดปัตตานี จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเลย จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรรวมทั้งสิ้น 12,860 ราย วงเงินขอรับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 154,823,741 บาท ซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากเกินระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามระเบียบฯ

2. การสำรวจตรวจสอบความเสียหายและการขอรับความช่วยเหลือได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยอนุโลม และระเบียบกรมประมงว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติ พ.ศ. 2541 ครบถ้วนแล้ว

3. คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย อัคคีภัย ภัยอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชระบาด ภัยหนาว ภัยฝนทิ้งช่วง ภัยพายุและคลื่นลมแรง และปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำดังกล่าว (ตามข้อ 1) ทั้งนี้ จังหวัดที่ประสบภัยได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองข้อมูลพื้นที่เกิดภัย ช่วงระยะเวลาการเกิดภัย และรอบการเพาะปลูกพืชหรือรอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว ไม่ซ้ำซ้อนกับการให้ความช่วยเหลือจากภัยพิบัติอื่น ๆ ในรอบการเพาะปลูกพืชหรือรอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเดียวกันตามที่ สงป. ให้ถือปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานในการขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ว

4. กษ. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2557 ในครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือล่าช้า จะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตร เสียโอกาสในการสร้างรายได้ รวมทั้งระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือก็ล่วงเลยมานานพอสมควร อาจจะนำไปสู่ปัญหาการร้องเรียนในภายหลังได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ