ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีกา รวม 9 ฉบับ

ข่าวการเมือง Tuesday July 7, 2015 16:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีกา รวม 9 ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ สคก. เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ....

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

3. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

4. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

6. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอุทธรณ์และฎีกา)

7. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

8. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

9. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 9 เป็นร่างที่ สคก. เห็นควรให้ยกร่างเพิ่มเติมขึ้นอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมระบบการอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติรวม 9 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ....

1.1 กำหนดคำนิยาม “คดีชำนัญพิเศษ” และ “ศาลชำนัญพิเศษ” เพื่อให้คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

1.2 กำหนดให้จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเป็นศาลชั้นอุทธรณ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์จากศาลชำนัญพิเศษได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลล้มละลาย และศาลเยาวชนและครอบครัว และมีการจัดตั้งแผนกคดีชำนัญพิเศษเป็นประเภทต่าง ๆ

1.3 กำหนดตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและรองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

1.4 กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาว่าคดีที่มีปัญหาสำคัญคดีใดสมควรได้รับการวินิจฉัยโดยที่ประชุมแผนกใด และองค์ประชุมของที่ประชุมแผนก

1.5 กำหนดให้นำบทบัญญัติที่ใช้บังคับกับศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาครวมทั้งผู้บริหารและผู้พิพากษาในศาลดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

1.6 กำหนดบทเฉพาะกาลให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์จากศาลชำนัญพิเศษก่อนร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปจนกว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปิดทำการ

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ศาลยุติธรรม” และ “ศาลชั้นอุทธรณ์” เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

2.2 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมซึ่งกำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรมมีอำนาจออกประกาศกำหนดการจัดตั้งและเปิดทำการสาขาของศาลในท้องที่อื่นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น และให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งของศาลในท้องที่ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาล

2.3 กำหนดการรับพิจารณาและการโอนคดีในกรณีที่คดีในศาลชั้นต้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง

3. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

3.1 กำหนดเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

3.2 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รวมทั้งแก้ไขวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้อง

3.3 กำหนดหลักเกณฑ์การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

3.4 กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการอุทธรณ์คดีแรงงานที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาก่อนวันเปิดทำการศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาและรองรับบรรดาคดีแรงงานที่ค้างพิจารณา

3.5 กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้ชี้ขาดว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ และชี้ขาดในกรณีที่ศาลแรงงานอื่นไม่ยินยอมรับโอนคดีในระหว่างที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ยังไม่เปิดทำการ

4. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

4.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” “คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” และ “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

4.2 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

4.3 ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

4.4 กำหนดหลักเกณฑ์การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

5.1 กำหนดเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

5.2 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลายให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รวมทั้งแก้ไขวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้อง

5.3 กำหนดหลักเกณฑ์การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในคดีล้มละลายที่มิใช่คดีอาญาให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

5.4 กำหนดให้คดีชำนัญพิเศษที่ยื่นอุทธรณ์ก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้ยื่นต่อศาลที่มีอำนาจอยู่ตามกฎหมายเดิม และได้กำหนดบทบัญญัติรองรับอำนาจพิจารณาคดีอุทธรณ์ของศาลดังกล่าวในระหว่าที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่เปิดทำการเพื่อความต่อเนื่องในระบบกระบวนการยุติธรรมโดยไม่กระบทต่อสิทธิในการอุทธรณ์ของคู่ความ แต่ถ้าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการแล้ว จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

6. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอุทธรณ์และฎีกา)

6.1 กำหนดเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม”เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

6.2 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีภาษีอากรให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

6.3 ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

6.4 กำหนดหลักเกณฑ์การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

6.5 แก้ไขศาลที่มีอำนาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็น

7. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

7.1 กำหนดเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า“ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

7.2 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีเยาวชนและครอบครัวให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

7.3 กำหนดหลักเกณฑ์การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในคดีเยาวชนและครอบครัวที่มิใช่คดีอาญาให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

8. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)

8.1 กำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด

8.2 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

8.3 ยกเลิกเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการในการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับระบบอนุญาตให้ฎีกาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

8.4 กำหนดให้การฎีกาคดีผู้บริโภคที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะเสร็จการพิจารณาจากศาลฎีกา

9. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งพุทธศักราช 2477 เพื่อให้อำนาจประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมออกข้อบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับจำนวนค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ของพยานที่ศาลเรียกมาให้ความเห็นต่อศาล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กรกฏาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ