การประกาศกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

ข่าวการเมือง Tuesday December 1, 2015 15:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ประกาศกำหนดเพิ่มเติมให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยให้ “สินค้าเกษตร หมายถึง ผลิตผลทางเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลิตผลทางเกษตรกรรม” ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2558 (พระราชบัญญัติยกเลิกฯ) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 มีหลักการและเหตุผลให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 เพื่อให้มีการรวมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) กับบริษัทตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) โดยกำหนดให้ยุบเลิก AFET เพื่อมารวมกับ TFEX และให้มีการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะช่วยขยายช่องทางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้ง ยังเป็นผลดีในด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ของประเทศ

2. พระราชบัญญัติยกเลิกฯ ได้กำหนดหลักการให้ TFEX ดำเนินการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงควบคู่ไปกับ AFET เพื่อให้การดำเนินการรวม TFEX และ AFET เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ดี โดยที่พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ ยังมิได้มีการกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิง ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงต้องประกาศกำหนดเพิ่มเติมให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้า ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ เพื่อให้ TFEX สามารถทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงได้ตามกฎหมาย

3. พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ ได้มีการกำหนดประเภทของสินค้าและตัวแปรไว้ 7 ประเภท ได้แก่ หลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงิน และดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ และต่อมาคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดสินค้าและตัวแปรเพิ่มเติม เพื่อรองรับการพัฒนาตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทยให้เกิดศักยภาพในเชิงแข่งขันได้ในอนาคต

4. คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ได้มีมติเห็นชอบให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ และให้ “สินค้าเกษตร หมายถึง ผลิตผลทางเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ได้จากการแปรรูปผลิตผลทางเกษตรกรรม” ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ