ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและกรอบการดำเนินงานระยะต่อไปของคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน

ข่าวการเมือง Tuesday February 9, 2016 17:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (คณะกรรมการ สสค.) เสนอดังนี้

1. รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

2. เห็นชอบในหลักการกรอบแผนการดำเนินงานและความต้องการงบประมาณของ สสค. ทั้งนี้ ให้ สสค. จัดทำรายละเอียดแผนงาน/กิจกรรมในการใช้งบประมาณให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาความเหมาะสมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ในการขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

สาระสำคัญของเรื่อง

สสค. รายงานว่า

1. ผลการดำเนินงานของ สสค.

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สสค. ได้ปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายเพิ่มเติมจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย โดยเฉพาะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนประมาณ 350,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสประมาณ 250,000 คน อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการเรียนรู้ และสร้างเสริมสุขภาวะแก่เด็กในโรงเรียนห่างไกลและลำบากได้เป็นอย่างดี

2. กรอบแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป

คณะกรรมการ สสค. ได้เห็นชอบแผนงานพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด มีสาระสำคัญดังนี้

หลักการและเหตุผล

เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลเรื่องการสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ และส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย “ประชารัฐ” โดยการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียนและแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรดำเนินงานพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (area-based) และมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคม ในลักษณะการปฏิบัติการควบคู่กับการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในพื้นที่ พร้อมกับสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่การสังเคราะห์นโยบาย

ยุทธศาสตร์/แนวทาง

ดำเนินงานในลักษณะการปฏิบัติการควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ การสร้างความรู้เชิงระบบ (Knowledge) การพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) และการสาธิตปฏิบัติการให้เห็นผล (Action) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ตาก สระแก้วและหนองคาย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงในพื้นที่พร้อมกับสร้างองค์ความรู้เชิงระบบที่จำเป็นในการพัฒนาข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล มุ่งเน้นสนับสนุนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในเชิงบูรณาการ การสนับสนุนทางวิชาการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการโดยดำเนินงาน 2 ระดับ กล่าวคือ

1. ระดับจังหวัดสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดและกลไกจังหวัดให้เกิดการบูรณาการยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

2. ระดับท้องถิ่น (ตำบล) เจาะจงกลุ่มประชากรที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนและพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ กรอบแผนการดำเนินงานนี้เป็นการเสริมภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ โดย สสค. จะเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งกำลังแรงงานและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และให้ความสำคัญกับพื้นที่ยากจนหรือประชากรที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำในลักษณะเชื่อมโยงกันด้วยระบบและกลไกในพื้นที่เข้ากับนโยบายการศึกษากับเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านธุรกิจท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีสถานศึกษาเป็นจุดเชื่อมต่อ รวมถึงจัดศึกษาวิจัยร่วมไปกับการพัฒนาตามกรอบระยะเวลาของการศึกษาวิจัย ดังนั้น กรอบการดำเนินการตามที่เสนอจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างเต็มตามศักยภาพ และหนุนเสริมนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลไปพร้อม ๆ กัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. เกิดการพัฒนากำลังคนวัยเรียน โดยจะทำให้เด็กและเยาวชน (อายุ 15-21 ปี) จำนวน 20,000 คน ในเขตพื้นที่ยากจน มีทักษะการทำงานตรงตามความต้องการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือชุมชนของตนเอง และอัตราการมีงานทำของผู้จบมัธยมศึกษาในพื้นที่เพิ่มขึ้นภายใน 3 ปี

2. เกิดการพัฒนากำลังคนวัยแรงงาน โดยจะเพิ่มแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) ที่มีทักษะอาชีพตรงตามกิจการเป้าหมายและได้รับการจ้างงานในพื้นที่ตรงขีดความสามารถ มีทักษะการประกอบอาชีพ 30,000 คน และจำนวนแรงงานสำเร็จการศึกษาวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ