การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday April 19, 2016 18:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

กค. เสนอว่า

1. เนื่องจากหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อน การกำหนดเงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นรายการสำหรับบุคคลธรรมดา และอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับภาระค่าครองชีพในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราภาษีดังกล่าวให้เหมาะสมเป็นธรรม และสอดคล้องกับภาระค่าครองชีพในปัจจุบัน ดังนี้

1.1 เงินได้พึงประเมิน

เดิม - มาตรา 42 ทวิ เงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 40 (1) และ (2) ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

ใหม่ - “มาตรา 42 ทวิ เงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 40 (1) และ (2) ยอดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท”

1.2 เงินได้พึงประเมินเฉพาะที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น

เดิม - มาตรา 42 ตรี เงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 40 (3) เฉพาะที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

ใหม่ - “มาตรา 42 ตรี เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) เฉพาะที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึง

1.3 รายการหักลดหย่อน

เดิม - (ก) ลดหย่อนให้สำหรับผู้มีเงินได้ 30,000 บาท

(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท

(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย

(1) ที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ. 2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมก่อน พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท

(2) ที่เกิดหลัง พ.ศ. 2522 หรือผู้ที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมในหรือหลัง พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคนฯ

ใหม่ - (ก) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท

1.4 ยกเลิกการลดหย่อนเพื่อการศึกษาของบุตร

เดิม - บุตรของผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนตามเงื่อนไขใน (ค) และยังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาของทางราชการสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนราษฎร์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ให้หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท

ใหม่ - ยกเลิก

1.5 การหักลดหย่อนกรณีสามีภริยาต่างมีเงินได้

เดิม - กรณีสามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การหักลดหย่อน ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ 60,000 บาท

ในกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย การหักลดหย่อน ให้หักได้เฉพาะสามีหรือภริยาและบุตรที่อยู่ในประเทศไทย

ใหม่ - ในกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การหักลดหย่อน ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ 120,000 บาท”

ในกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย การหักลดหย่อน ให้หักได้เฉพาะสามีหรือภริยาและบุตรที่อยู่ในประเทศไทย”

1.6 ผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกหรือผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เดิม - ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท

ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลให้หักลดหย่อนได้ สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยแต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

ใหม่ - “ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกให้หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท”

“ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลให้หักลดหย่อนได้ สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยแต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท"

1.7 เงินได้พึ่งประเมินที่ต้องยื่นรายการสำหรับบุคคล

เดิม - ให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึ่งประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ถ้าบุคคลนั้น

(1) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 30,000 บาท

(2) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียว เกิน 50,000 บาท

(3) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท หรือ

(4) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้ พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวกัน 100,000 บาท

ใหม่ - (1) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท

(2) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 100,000 บาท

(3) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาทหรือ

(4) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 200,000 บาท

1.8 ปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

                 บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา        บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา      บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                 ตามประมวลรัษฎากร                  ที่มีการปรับปรุงตามพระราชกฤษฎีกา     ที่นำเสนอในครั้งนี้
                 เงินได้สุทธิ                 ร้อยละ   เงินได้สุทธิ              ร้อยละ    เงินได้สุทธิ              ร้อยละ
                 1 - 100,000                 5    1 - 300,000               5    1 - 300,000              5
                 1000,001 - 500,000         10    300,001 - 500,000        10    300,001 - 500,00        10
                 500,001 – 1,000,000        20    500,001 – 750,000        15    500,001 – 750,000       15
                 1,000,001 – 4,000,000      30    750,001 – 1,000,000      20    750,001 – 1,000,000     20
                 4,000,001 ขึ้นไป             37    1,000,001 – 2,000,000    25    1,000,001 – 2,000,000   25
                                                  2,000,001 – 4,000,000    30    2,000,001 – 5,000,000   30
                                                  4,000,001 ขึ้นไป           35    5,000,001 ขึ้นไป          35

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ยังคงใช้บังคับอยู่ต่อไป

1.9 การปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเกณฑ์การยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วข้างต้น ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

2. ตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย ดังนี้

รายการ/ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ

รายการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมิน/

มาตรา 4 ทวิเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 เฉพาะที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร

3. มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบดังนี้

3.1 การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของผู้เสียภาษีมีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

3.2 เป็นการบรรเทาภาระภาษีโดยผู้เสียภาษีทุกรายจะมีภาระภาษีลดลงและผู้เสียภาษีที่มีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาทต่อเดือน

3.3 เป็นการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในหลายด้านรวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

3.4 ทำให้เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ปรับเพิ่มขึ้น และจะลดจำนวนแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ประมาณ 1,000,000 แบบ อันจะช่วยลดภาระและงบประมาณในกระบวนงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีและลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

3.5 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะมีภาษีสูญเสียของปีภาษี 2560 ประมาณ 32,000 ล้านบาท แต่จะทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 เมษายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ