ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday June 28, 2016 16:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. .... และร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. .... และร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบ

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2558 ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.1 กำหนดผู้มีอำนาจลงนามเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจนขึ้น โดยกำหนดความหมายของคำว่า “รัฐมนตรี” และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ลงนามเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)

1.2 กำหนดให้ในการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีมีการกลั่นกรองจากรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยให้ผู้มีอำนาจลงนามเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งเรื่องไปยัง สลค. เพื่อให้เรื่องที่เสนอมีการบูรณาการภายในกลุ่มงาน

1.3 กำหนดให้ สลค. มีอำนาจส่งเรื่องคืน กรณี สลค. ตรวจสอบพบว่าหน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

1.4 กำหนดความรับผิดชอบในการเสนอเรื่องเป็นวาระจร โดยให้ผู้มีอำนาจลงนามเสนอเรื่องและรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรีรับรองว่าการเสนอเรื่องได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และหากไม่เสนอเรื่อง ต่อคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้นจะเกิดความเสียหายต่อประเทศหรือประชาชน รวมทั้งให้อำนาจ สลค. กำหนดแบบการนำเสนอเรื่องเป็นวาระจร

1.5 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องแทนคณะรัฐมนตรีก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ หากคณะรัฐมนตรีไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี

2. ร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

2.1 กำหนดระยะเวลาเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้หน่วยงานเสนอเรื่องมายัง สลค. ก่อนวันที่ประสงค์จะให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 15 วัน ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้ส่งเรื่องไปยัง สลค. ก่อนวันที่ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเรื่องทั่วไป อย่างน้อย 7 วัน และเรื่องร่างกฎหมาย อย่างน้อย 10 วัน ทั้งนี้ เป็นการนำข้อกำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 และ 24 พฤศจิกายน 2558 มากำหนดไว้

2.2 กำหนดให้ในการเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องชี้แจงข้อมูลตามที่กำหนด เช่น ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือนโยบายรัฐบาล การบูรณาการทำงานหรือผลการหารือที่ได้ข้อยุติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แหล่งเงินที่เหมาะสม ระยะเวลาการดำเนินการ แผนปฏิบัติการ แผนการกำกับดูแล และประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ทั้งนี้ เป็นการนำข้อกำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 และ 19 มกราคม 2559 มากำหนดไว้

2.3 กำหนดให้ในการเสนอเรื่องขออนุมัติเงินกู้ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือัตรากำลังเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องมีความเห็นจากกระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักประมาณ (สงป.) หากเป็นกรณีรัฐวิสาหกิจต้องมีความเห็นจากคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจด้วย ทั้งนี้ เป็นการนำข้อกำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 และ 2 มิถุนายน 2558 มากำหนดไว้

2.4 กำหนดประเภทเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ ที่หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เป็นการนำข้อกำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 มากำหนดไว้

2.5 กำหนดให้ สลค. สามารถให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องรับไปหาข้อยุติในกรณีที่เรื่องจะเสนอคณะรัฐมนตรีมีความเห็นแตกต่างหรือขัดแย้งกันได้

2.6 กำหนดแนวปฏิบัติในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) รวม 10 ประการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มิถุนายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ