ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเชีย–มาเลเชีย-ไทย (IMT-GT)

ข่าวการเมือง Tuesday April 25, 2017 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเชีย–มาเลเชีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดย สศช. จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบอีกครั้งหนึ่ง

ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงาน IMT-GT มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. ยืนยันบทบาทสำคัญของ IMT-GT ในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในช่วงเศรษฐกิจโลกซบเซาที่ผ่านมา เศรษฐกิจ IMT-GT ยังคงเข้มแข็งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6.9 ระหว่างปี 2554 -2558 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13,844 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 ซึ่งสูงกว่าอาเซียนที่เติบโตเท่ากับ 11,009 ดอลลาร์สหรัฐ

2. รับทราบความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 2 ปี 2555 – 2559 (Implementation Blueprint: 2012 - 2016) ยินดีต่อความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและความริเริ่มในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ซึ่งจะสนับสนุนทางการค้าและการตลาด ยินดีต่อความก้าวหน้าการสนับสนุนเมืองสีเขียว และยินดีต่อการลงนามจัดตั้งมหาวิทยาลัยเครือข่าย IMT-GT รวมทั้งรับทราบการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวด้วยการเปิดเส้นทางการบินใหม่กว่า 10 เส้นทางในอนุภูมิภาค

3. รับรองแนวทางการพัฒนาที่สนับสนุนซึ่งกันและกันสามประการ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของ IMT-GT ได้แก่

1) การกำหนดและดำเนินการโครงการซึ่งมีลักษณะที่ขยายการดำเนินการต่อไปอีกได้และนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินการที่อื่นอีกได้และมีความยั่งยืน

2) ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงการ และดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการ

3) ใช้แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากแนวระเบียงเศรษฐกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงทั้งห้าแนวระเบียงโดยมีการปรับปรุงการเชื่อโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกเชิงสถาบันและความเชื่อมโยงในด้านกฎระเบียบ ผสมผสานนวัตกรรม และสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าข้ามพรมแดนและการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม และเนื่องจากประเทศสมาชิก IMT-GT มีพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ป่าไม้ และแหล่างน้ำ ที่เชื่อมโยงกันทางกายภาพ จึงควรมีการปรับใช้แนวทางเชิงพื้นที่มุ่งสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

4. ยืนยันข้อผูกพันในการดำเนินโครงการเพื่อการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ มูลค่ากว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงใน IMT- GT ภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปีฉบับใหม่และฉบับต่อไป โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและระดมทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี ปี 2560 – 2564 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ 2579 และย้ำถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินโครงการภายใต้ IMT-GT รวมถึงการดำเนินความร่วมมือภาครัฐ – ภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 เมษายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ