ร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ

ข่าวการเมือง Tuesday March 13, 2018 16:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติเพื่อประกาศใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศ ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

ทั้งนี้ ให้ คค. พิจารณาทบทวนกลไกการบริหารจัดการห้วงอากาศตามร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการการบินพลเรือนทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศในระดับนโยบายแทนการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติชุดใหม่ และให้ คค. (คณะกรรมการการบินพลเรือน) พิจารณาแต่งตั้งกลไกการขับเคลื่อนนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติในระดับยุทธการและระดับปฏิบัติการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้ คค. รับทราบความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในประเด็นการเพิ่มเติมการกำหนดนโยบายการขนส่งทางอากาศให้ครอบคลุมในทุกมิติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงระบบห้วงอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปตามแนวทางสากลและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระบบการบินของ ICAO โดยยึดถือตามแนวความคิดของการบริหารจัดการจราจรทางอากาศแบบยืดหยุ่น (Flexible Uses of Airspace : FUA) ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการจราจรทางอากาศ โดยมีหลักการ คือ ห้วงอากาศไม่ควรกำหนดให้เป็นพื้นที่ตายตัว เช่น พื้นที่หวงห้าม (Prohibited Area) พื้นที่กำกัด (Restricted Area) และพื้นที่อันตราย (Danger Area) โดยต้องออกแบบและจัดการห้วงอากาศตามความต้องการของผู้ใช้แรงงานในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ การจะนำหลักการ FUA มาใช้ให้เกิดผลสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนเพื่อร่วมกันออกแบบ ทบทวน และประเมินผลการจัดการห้วงอากาศเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานห้วงอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติมีนโยบายเฉพาะ เช่น

(1) พัฒนากฎหมายห้วงอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

(2) พัฒนาบุคลากรทั้งด้านความมั่นคงและพลเรือนให้มีความพร้อมสำหรับรองรับการเติบโตของกิจการการบินและพัฒนาทางเทคโนโลยีในอนาคต เพื่อให้ระบบการบินของประเทศทั้งกิจการการบินของภาคความมั่นคงและการบินพลเรือนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

(3) เสริมสร้างขีดความสามารถการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เพื่อป้องกันการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(4) บูรณาการการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกันระหว่างกระทรวงกลาโหม (กห.) คค. หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ

(5) ส่งเสริมให้มีการวางแผนและลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ ห้วงอากาศและอวกาศ การเดินอากาศ การบริหารการจราจรทางอากาศเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานของ ICAO เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ