ข้อเสนอทางนโยบายเรื่อง ผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 13:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง ผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ไปพิจารณาดำเนินการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุดและอำเภอบ้านฉาง รวมถึงเผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและวิธีการสร้างเสริมสุขภาพในภาวะมลพิษให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงโดยเร็วและต่อเนื่อง

2. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการสำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรม และการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยสารเคมีระดับจังหวัดโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรและประชาชนในพื้นที่

3. ให้ คสช. พิจารณาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกลไกกลางในการดำเนินงานและความเข้มแข็งของ ภาคประชาชน ได้แก่ การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกลไกผู้ตรวจการสำหรับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาชน และสนับสนุนภาคประชาสังคมจังหวัดระยอง ติดตามความเคลื่อนไหวทางนโยบายโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่

สำหรับข้อเสนอที่ให้รัฐบาลทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน วางและจัดทำผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยองฉบับใหม่ ปรับปรุงระบบการจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ พิจารณาปรับปรุงระบบและมาตรการทางการคลังและจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง จัดให้มีระบบและกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน และจัดให้มีการบริการทางสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในทุกขั้นตอน รวมทั้งขอให้รัฐบาลชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง ในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยให้มีการกำหนดแนวทางและกระบวนการตัดสินใจในการให้อนุมัติ/อนุญาต/ให้ความเห็นชอบการขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ที่ประชุมให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสากรรมแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่จังหวัดระยอง โดยให้รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปปรับปรุงและให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยมีความเป็นมา ดังนี้

1.1 วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2550 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ คสช. ขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 5 มาตรา 10 และมาตรา 11 โดยขอให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ตามมาตรา 40 เพื่อนำไปสู่การใช้ความรู้และปัญญาในการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้ง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้มีส่วนร่วม กำหนดนโยบายสาธารณะในพื้นที่และนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพของคนมาบตาพุดและคนระยอง

1.2 ต่อมา สช. ได้สนับสนุนมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ดำเนินโครงการพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง กำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยเป้าหมายคือ ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับทางเลือกการพัฒนาจังหวัดระยอง และได้รายงานผลการพัฒนากระบวนการตามโครงการดังกล่าว ต่อ คสช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551

1.3 ข้อค้นพบสำคัญจากการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นกรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง พบว่า

1.3.1 ก่อนการพัฒนาตามโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อปี พ.ศ. 2524 ระยองเป็นจังหวัดที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสมดุลกันระหว่างสามขาการผลิตคือ เกษตรกรรมภาคบริการและอุตสาหกรรม หรือเรียกว่ามี “เศรษฐกิจสามขา” ดังนั้น จังหวัดระยองจึงถือเป็นจังหวัดที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรและความสมดุลทางเศรษฐกิจอยู่ในตัวแล้ว

1.3.2 หลังการพัฒนาตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการพัฒนาอุตสาหกรรม ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และเหล็ก พบว่า จังหวัดระยองได้เปลี่ยนจากจังหวัดที่มีความสมดุล “เศรษฐกิจแบบสามขา” มาสู่ “เศรษฐกิจแบบขาเดียว” คือ พึ่งพาอุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด การเติบโตของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2538 ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน การขยายตัวของภาคบริการและภาคเกษตรกลับเป็นไปอย่างช้าฯ ปัจจุบันจังหวัดระยองถือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงสุดในประเทศไทย โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบ 8 เท่า อย่างไรก็ตาม การเป็นเศรษฐกิจขาเดียวทำให้โอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยองกระจุกตัวอยู่เฉพาะในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น แทนที่กระจายตัวไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถเพิ่มโอกาสและยกระดับการพัฒนาของประชาชนโดยรวมในจังหวัดได้อย่างที่หวังไว้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของคนแต่ละกลุ่มจากความไม่สมดุลของการพัฒนาอีกด้วย

1.3.3 ข้อบ่งชี้ความไม่สมดุลอันเป็นผลกระทบจากการพัฒนา

(1) อุตสาหกรรมของจังหวัดระยองส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าสูง ดังนั้น การที่อุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวที่เกิดขึ้นในระยองจำนวนมากต้องไหลออกไป เพื่อใช้ในการนำเข้าวัตถุดิบ และมิได้ถูกใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชาวระยอง

(2) แม้ว่าระยองจะเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงที่สุดของประเทศ แต่หากพิจารณาตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตแล้วกลับมิได้ดีขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน จากการเปรียบเทียบจังหวัดระยองกับนครปฐมซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกันตั้งห่างจากกรุงเทพในระยะทางที่ไม่แตกต่างกัน และในอดีตทั้งสองมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบสามขาเหมือนกัน เพียงแต่จังหวัดนครปฐมมิได้ถูกพัฒนาตามแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด และเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทางสังคมพบว่า ระยองมีอัตราผู้ป่วยเอดส์รายใหม่สูงกว่านครปฐมมากและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 5 เท่า นอกจากนี้ยังมีอัตราเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กที่ได้รับเชื้อเอชไอวี มีคดีประทุษร้าย คดียาเสพติด รวมถึงมีสัดส่วนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษาและอัตราครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษสูงกว่านครปฐมอีกด้วย ดังนั้น การมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวที่สูงที่สุดของประเทศ ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยองจะดีขึ้นตามไปด้วย

(3) มลพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ได้แก่ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และของเสียอันตราย

(4) การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ที่ทำให้เกิดมลพิษทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางสังคม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาวะทั้งทางกาย จิต ปัญญาและสังคม ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคมะเร็ง ปัญหาสุขภาพทางจิต และปัญหาสุขภาพทางสังคมและปัญญา

1.3.4 การจัดการปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง

(1) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติในปี 2541 ให้พิจารณาศักยภาพการรองรับมลพิษบริเวณพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีเนื้อหาที่สำคัญคือ หากผลการประเมินมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โครงการใหม่ที่กำลังขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะต้องปรับลดอัตราการระบายมลพิษตามที่รัฐกำหนด รวมทั้งจะส่งผลต่อการอนุมัติโครงการอื่นๆ ที่จะขยายเพิ่มขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษาได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การศึกษาครอบคลุมมลพิษทางอากาศ 3 ชนิด คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายในกลุ่ม “วีโอซี” ฝุ่นละออง และก๊าซพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การศึกษาเริ่มดำเนินการในปี 2544 และมีร่างผลการศึกษาในปี 2546 มีแนวโน้มว่า ศักยภาพการรองรับมลพิษเต็มแล้วแต่ก็มีการปรับแก้ผลการศึกษาอีกหลายปี โดยไม่ได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใด ขณะที่การดำเนินการศึกษาใช้เวลามาแล้วกว่า 9 ปี โดยยังไม่สามารถสรุปได้ แต่กลับมีการอนุมัติให้ขยายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 70 โครงการในปลายปี 2549 ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดเรียกร้องให้มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างปัญหามลพิษกับความเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ ในเดือนมกราคม 2550 การประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังคงเห็นว่าแบบจำลองการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศยังไม่มีความถูกต้องและแม่นยำเท่าที่ควร จึงมีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลนำเข้าเพื่อให้แบบจำลองมีความถูกต้องเชื่อถือได้ภายใน 1 ปี

(2) การจัดการน้ำซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งของความต้องการใช้น้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากระยองเคยเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้ที่มีชื่อเสียง อ่างเก็บน้ำต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางชลประทานเป็นหลัก ต่อมาอ่างเก็บน้ำเหล่านี้มีการวางท่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐไม่ได้เตรียมพร้อมในการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ดังนั้น การจัดสรรน้ำของรัฐที่มุ่งให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ภาคการเกษตรและประมงชายฝั่ง ชุมชนเขตเมือง รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในด้านการเข้าถึงน้ำและค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำ ทั้งนี้ ประเด็นการขาดแคลนน้ำจึงอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่รุนแรงภายในสังคมระยองในอนาคตหากรัฐบาลไม่มีแนวทางการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมและเหมาะสม

(3) การจัดการผังเมืองพบว่ามีการปรับเปลี่ยนสีผังเมืองและข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรณีของพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่บ้านฉางจังหวัดระยอง ทำให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนเนื่องจากคำนึงถึงความต้องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

(4) การวางแผนและปฏิบัติการตามแผนรองรับอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมทั้งแบบเฉียบพลันและแบบสะสมไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

1.3.5 การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการลดและขจัดมลพิษมากกว่าการมองปัญหาจังหวัดระยองโดยรวม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ