In Focusจับตา “หัวเหว่ย" ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากแดนมังกร ขึ้นแท่นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลกภายใน 1 ไตรมาส

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 6, 2013 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อพูดถึงสมาร์ทโฟน เราอาจนึกถึงเจ้าตลาดอย่างแอปเปิล อิงค์ ผู้ผลิตไอโฟนและไอแพด ซึ่งมักจะมีอุปสงค์สินค้านำหน้าอุปทานมาโดยตลอด หรือเราอาจนึกถึง ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของโลกที่แต่ละปีสามารถปล่อยสมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่นเพื่อตอบโจทย์ไลฟสไตล์ผู้ใช้ที่แตกต่างกัน แต่ใครจะรู้ว่าผู้นำด้านโทรคมนาคมและโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกจากแดนมังกรอย่าง “หัวเหว่ย” (Huawei) ก็กำลังเจาะตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ด้วยเช่นกันและสามารถทำได้ดีด้วย เพราะในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว มีรายงานจาก IDC ว่ายอดขายของสมาร์ทโฟนหัวเหว่ยทะยานขึ้นสู่อันดับ 3 ของโลกภายใน 1 ไตรมาสเป็นรองแค่ซัมซุงและแอปเปิลเท่านั้น

*ทำความรู้จักกับหัวเหว่ย

นายเหริน เจิ้งเฟย อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพจีนก่อตั้งหัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ขึ้นในปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 21,000 หยวนโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เริ่มแรกจัดตั้งในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยมีพันธกิจสร้างเครือข่ายโทรคมนาคม มอบบริการด้านการทำงาน คำปรึกษา และอุปกรณ์ให้แก่องค์กรทั้งในและนอกประเทศจีน รวมถึงพันธกิจในการผลิตเครื่องมือสื่อสารสำหรับตลาดผู้บริโภค ปัจจุบันหัวเหว่ยมีพนักงานกว่า 140,000 คนในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ข้อมูลปี 2554 ระบุว่าหัวเหว่ยครอบครองสิทธิบัตรมากกว่า 65,000 ฉบับทั่วโลก

หัวเหว่ยมุ่งเน้นงานด้านวิจัยพัฒนา (R&D) โดยมีพนักงานในแผนก R&D มากถึง 62,000 คน หรือกว่า 44% ของจำนวนพนักงานหัวเหว่ยทั่วโลกทั้งหมด นอกจากนี้หัวเหว่ยยังมีศูนย์ R&D ใน 23 ประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย อินเดีย จีน และล่าสุดที่ประเทศฟินแลนด์

ในยุคเริ่มต้นของบริษัท หัวเหว่ยรับงานตัวแทนจำหน่ายให้แก่บริษัทฮ่องกงผู้ผลิตสวิทช์ private branch exchange(PBX) ในองค์กรธุรกิจ ภายหลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้สักระยะ หัวเหว่ยออกมาเริ่มทำงานวิจัยและธุรกิจของตัวเองในด้านสวิทช์ PBX โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจโรงแรมและธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งปูทางให้หัวเหว่ยสามารถก้าวสู่ตลาดสายหลักในธรุกิจโทรคมนาคมได้ในปี 2535 ด้วยการเปิดตัวสวิทช์โทรศัพท์ดิจิตอล C&C08 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในตลาดจีนขณะนั้น และทำให้บริษัทค่อยๆครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น

ความสำเร็จก้าวใหญ่ของหัวเหว่ยเพิ่มขึ้นอีกขั้น ภายหลังลงนามสัญญาต่างประเทศครั้งแรกในปี 2540 ในการให้บริการโครงข่ายติดต่อสื่อสารแบบใช้สายให้แก่บริษัทฮัทชิสัน วัมเปาในฮ่องกง และต่อมาหัวเหว่ยได้วางโครงข่ายไร้สาย GSM รวมถึง CDMA และ UMTS ในปีเดียวกัน ขณะที่ในปี 2541- 2546 บริษัทได้ทำสัญญาร่วมกับไอบีเอ็มในด้านให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการ ซึ่งทำให้บริษัทประสบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทครั้งมโหฬาร หัวเหว่ยเร่งขยายธุรกิจในต่างแดนนับตั้งแต่ต้นยุคมิลเลนเนียมเป็นต้นมา ซึ่งเห็นได้จากการเร่งสร้างศูนย์ R&D ในสวีเดนเมื่อปี 2543 และสหรัฐในปี 2544 และในปี 2548 ยอดขายของหัวเหว่ยจากการทำสัญญาในต่างแดนสามารถแซงหน้ายอดขายในจีนเป็นครั้งแรก หัวเหว่ยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจนสามารถโอเวอร์เทคอีริคสันได้ในปี 2555

ธุรกิจของหัวเหว่ยแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนโครงข่ายโทรคมนาคม ส่วนบริการและจัดหาอุปกรณ์ทั่วโลก และส่วนที่ปรึกษาและอุปกรณ์ติดต่ออิเล็กทรอนิก

ในด้านผลประกอบการ หัวเหว่ยเปิดเผยเมื่อต้นเดือนม.ค.ว่า บริษัทมียอดขายทั่วโลกในปี 2555 อยู่ที่ 2.202 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบรายปี และมีผลกำไรสุทธิ 1.54 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อนหน้า โดยนางแคธี เหมิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเหว่ยกล่าวว่า ความสำเร็จของหัวเหว่ยในปี 2555 เป็นผลจากการที่บริษัทมุ่งขยายขีดมูลค่าผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้า

*เริ่มต้นจากธุรกิจโทรคมนาคม

หัวเหว่ยมุ่งเน้นธุรกิจด้านโทรคมนาคมจนสามารถไต่สู่การเป็นผู้นำระดับโลก โดยในเดือนต.ค. 2551 หัวเหว่ยได้เปิดตัวเทคโนโลยีโครงข่าย DORA, HSDPA, HSUPA, HSPA+, WiMAX และ LTE ที่งาน P&T/EXPOCOMM CHINA2008 ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง โดยเทคโนโลยี HSPA+ จะทำให้ใช้อินเทอร์เน็ตจากโครงข่ายบรอดแบนด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยอัตราดาวน์โหลดและอัพโหลดที่สูงขึ้นกว่าเทคโนโลยี 3G ซึ่งต่อมาในไตรมาส 2 ปี 2552 บริษัทสตาร์ฮับของสิงคโปร์ได้เลือกให้หัวเหว่ยเป็นผู้อัพเกรดโครงข่ายจาก 3.5G เป็น HSPA+ ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันธุรกิจ DSL (Digital Subscriber Line) ของหัวเหว่ยก็สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รายงานจากเว็บไซต์ cn-c114.net ระบุว่า หัวเหว่ยทำยอดขาย DSL ในไตรมาส 3 ปี 2551 ได้มากกว่า 6.6 ล้านไลน์ หรือ 30.5% ของส่วนแบ่งตลาด DSL โลก ทำให้หัวเหว่ยครองยอดขาย DSL ทั่วโลกมากที่สุดในขณะนั้น

หัวเหว่ยไม่หยุดยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีบรอดแบรนด์เพียงเท่านี้ เพราะในเดือนก.ย. 2552 ทางบริษัทออกมาเปิดเผยว่าหัวเหว่ยกำลังทดสอบเทคโนโลยี HSPA+ ความเร็วถึง 56 Mbs เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี HSDPA ในขณะนั้นซึ่งให้ความเร็วในการดาวน์โหลดเพียง 7.2 Mbs และเทคโนโลยี HSPA+ ของผู้ผลิตรายอื่นซึ่งให้ความเร็ว 28 Mbs

*บุกตลาดสมาร์ทโฟน

หัวเหว่ยเริ่มปูทางธุรกิจสมาร์ทโฟนตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ด้วยการเข้าร่วมการเป็นสมาชิกของ Open Handset Alliance หรือกลุ่มผู้ผลิตที่สนับสนุนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในวันที่ 10 ธ.ค. 2551 พร้อมกับประกาศว่าทางบริษัทจะเผยโฉมสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในปี 2552 สำหรับสมาชิกผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันของ Open Handset Alliance มี 23 ราย อาทิ ซัมซุง เอชทีซี โซนี่ แอลจี เดลล์ หัวเหว่ย ฟอกซ์คอนน์ โมโตโรล่า เป็นต้น

ต่อมาในกลางเดือนก.พ. 2552 หัวเหว่ยคลอดสมาร์ทโฟนนิรนาม ซึ่งทำงานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นแรกในงาน GSMA Mobile World Congress (MWC) ที่เมืองบาร์เซโลนา สเปน ก่อนที่จะเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นเดิมอีกครั้งในงาน CommunicAsia 2009 กลางเดือนมิ.ย. ปีเดียวกัน ในชื่อรุ่น “Huawei U8230” ที่มีหน้าจอ LCD ขนาด 3.5 นิ้ว แบตเตอรี 1,500 mAh กล้องความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล ซึ่งทางหัวเหว่ยประกาศในเว็บไซต์ว่าพร้อมเปิดจำหน่ายในไตรมาส 3 ปี 2552

ขณะที่ในเดือนก.ย. 2553 ทางหัวเหว่ยเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่อ้างว่าราคาย่อมเยาที่สุดในโลกในซีรีส์ชุด “IDEOS” ประกอบด้วยรุ่น U8800 (แอนดรอยด์ 2.2), U8500 (แอนดรอยด์ 2.1) และ U8300 (แอนดรอยด์ 2.1 แป้นพิมพ์ QWERTY) สนนราคาตั้งแต่ 100 — 200 ดอลลาร์

ข้ามมาในปี 2555 หัวเหว่ยเปิดตัวสมาร์ทโฟนบางที่สุดในโลก “Ascend P1 S” ที่งาน 2012 Consumer Electronics Show (CES) ในเมืองลาสเวกัส Ascend P1 S มาพร้อมความบาง 6.68 มิลลิเมตร หน้าจอ Super AMOLED ความกว้าง 4.3 นิ้ว ซีพียูดูอัลคอร์ และทำงานด้วยระบบปฏิบิตการแอนดรอยด์ 4.0 ไอศครีมแซนด์วิช

ส่วนในปี 2556 นี้ที่งาน 2013 CES ก็ได้มีการเปิดตัวอุปกรณ์และสมาร์ทโฟนจากทางหัวเหว่ย อาทิ Ascend W1 มือถือเครื่องแรกของหัวเหว่ยบนระบบปฏิบัติการ Window Phone 8 นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว Ascend Mate สมาร์ทโฟนของหัวเหว่ยที่มีหน้าจอใหญ่ที่สุดในโลกถึง 6.1 นิ้ว มีความจุแบตเตอรีถึง 4,050 mAh และเปิดตัวสมารท์โฟนรุ่นเรือธงในงานอีกด้วย ในชื่อรุ่น “Ascend P2” ตัวเครื่องบางกว่า Ascend P1 S เพียง 6.45 มิลลิเมตร ความจุแบตเตอรี 3,000 mAh หน้าจอกว้าง 4.5 นิ้ว ส่วนความละเอียดกล้องหลังสูงถึง 13 ล้านเมกะพิกเซล โดย Ascend P2 ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1 ไอศครีมแซนด์วิช

*ข้ามสู่สภาวะเหนือคู่แข่ง?

ภายหลัง Ascend Mate สมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ที่สุดในโลกและ Ascend P2 สมาร์ทโฟนเรือธงของหัวเหว่ย ริชาร์ด หยู ประธานกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ออกมาประกาศศักดาว่า โทรศัพท์สมารท์โฟนที่ดีที่สุดในโลกไม่ได้มาจากคู่แข่ง แต่มาจากหัวเหว่ยเอง โดยเขากล่าวว่า หากถือ Ascend Mate ด้วยมือเดียว นิ้วโป้งข้างที่ถือก็จะไม่บดบังจอจากขนาดหน้าจอที่กว้าง 6.1 นิ้ว ขณะที่ Ascend P2 ก็ใช้งานได้สะดวกกว่า Galaxy Note ของซัมซุงเมื่อทดลองใช้ไปประมาณ 10 นาที แถมยังเหน็บแนมบริษัทคู่แข่งว่าพลาสติกที่ซัมซุงใช้ผลิตมือถือนั้นถูกมาก และแอปเปิลไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆแล้วภายหลังการจากไปของสตีฟ จ็อบส์

นอกจากนี้ นายหยูยังเปิดเผยว่า กลยุทธ์ของหัวเหว่ยในตลาดสมาร์ทโฟนคือการสลัดภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าราคาถูก สู่แบรนด์สินค้าที่เทียบเท่าแอปเปิลและซัมซุง

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายหัวเหว่ยสามารถจะขึ้นสู่ภาวะผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนได้ทัดเทียมแอปเปิลและซัมซุง และความนิยมในตัวแบรนด์จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ