รมว.เกษตรฯ ตรวจภัยแล้งอีสาน เร่งโครงการสร้างรายได้-แก้ไขภัยแล้งซ้ำซาก

ข่าวทั่วไป Saturday March 14, 2015 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่น ว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยสนับสนุนให้ชุมชนกำหนดกิจกรรมจากความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืนจำนวน 3,051 ตำบลๆ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายเป็นพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบแล้งซ้ำซากจำนวน 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด และภาคใต้ 6 จังหวัด ซึ่งกลุ่มหรือองค์กรเกษตรกรสามารถเสนอกิจกรรมความต้องการผ่านคณะกรรมการชุมชนที่มีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นองค์กรตัวแทนของชุมชนในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และเป็นผู้เสนอโครงการต่อคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับกระทรวง ซึ่งหากได้รับการอนุมัติโครงการฯ วงเงินที่ผ่านการอนุมัติจะโอนจัดสรรให้จังหวัดเข้าบัญชี ศบกต. และศบกต.จะจัดสรรงบประมาณดำเนินงานเข้าบัญชีเงินฝากกลุ่ม/องค์กรตามแผนปฏิบัติการของโครงการฯ ส่วนงบประมาณการจ้างงานจะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน

โดยโครงการทางการเกษตรที่จะได้รับการอนุมัติมี 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งทุกกิจกรรมจะต้องมีการใช้แรงงานภาคการเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและมีเหตุผลที่สมควรต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอ

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการสร้างรายได้ฯ ที่ผ่านคณะกรรมการชุมชน (ศบกต.) แล้ว 2,811 ตำบล คิดเป็น 92.13% จากเป้าหมาย 3,051 ตำบล ซึ่งได้มีการเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการระดับอำเภอ และจังหวัดตามขั้นตอนอย่างรัดกุม และผ่านการพิจารณาโครงการฯ ระดับกระทรวงแล้วจำนวน 707 โครงการ จาก 385 ตำบล ใน 43 จังหวัด เป็นเงินประมาณ 334 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 60%, โครงการปรับปรุงพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 26%, โครงการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 10% และโครงการลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร 4%

"ขณะนี้สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณก้อนแรกจำนวน 39.428 ล้านบาท คาดว่าวันจันทร์นี้(16 มี.ค.58) จะสามารถอนุมัติเพิ่มเติมได้อีก 62.54 ล้านบาท งบประมาณก้อนแรกของโครงการประมาณกว่า 100 ล้านบาท จะสามารถโอนจัดสรรลงสู่พื้นที่ที่เสนอโครงการมาก่อนได้ และจะเร่งรัดกระบวนการพิจารณาโครงการให้จัดสรรงบประมาณไปยังชุมชนได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินต้นพฤษภาคม" นายโอฬาร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ