"อุกฤษ"ทำ จม.เปิดผนึกระบุศาล รธน.ฝ่าฝืนหลักนิติธรรม-แนะหยุดปฏิบัติหน้าที่

ข่าวการเมือง Monday April 21, 2014 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.)ทำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 เรื่อง "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายที่ฝ่าฝืนหลักนิติธรรมเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่" นำมาแจกจ่ายที่อาคารรัฐสภา เรียกร้องให้ศาลรัฐธรมนูญได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเอง ก่อนการตีความขยายอำนาจไปก้าวก่าย แทรกแซง หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือองค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงการออกคำสั่งให้บุคคล หรือคณะบุคคลพ้นจากตำแหน่งหรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จดหมายดังกล่าว ระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่ามีปัญหาเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่น โดยไม่มีอำนาจขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคหก บัญญัติว่าวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 300 วรรคห้า ที่บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังมิได้มีการตรา พ.ร.บ.ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ต้องตรา พ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ยังละเลยที่จะดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ยังนำข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียวมาใช้ในการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยเรื่อยมา ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมานี้มีความสำคัญยิ่งกับประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับไปแล้วกว่า 350 เรื่อง แยกเป็นทำในรูปคำวินิจฉัย 92 เรื่อง และทำเป็นคำสั่งอีก 258 เรื่อง

การละเลยต่อหลักการดังกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีบิดเบี้ยว ขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาเพราะไม่มีกรอบแห่งการใช้อำนาจ คือ 1.ไม่มีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาในแต่ละประเภทคดีไว้ให้ชัดเจนส่งผลให้กระบวนการพิจารณาและการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางคดีกระทำไปด้วยความรีบเร่งผิดปกติ 2.การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำคำวินิจฉัยส่วนตน พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคสอง กำหนดไว้หรือไม่ เพียงใด

และ 3.ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลทำให้บางคดีมีการอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วหลายเดือนแต่คำวินิจฉัยกลางยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคสามกำหนดไว้

"ระหว่างที่ยังมิได้มีการดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องและครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือตามหลักนิติธรรม หรือในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตนไว้ก่อน จนกว่าจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องและครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือตามหลักนิติธรรม"เนื้อหาในจดหมาย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ