นายกฯ ให้ความมั่นใจต่างชาติพร้อมสนับสนุนเข้ามาทำการค้า-การลงทุนในไทย

ข่าวการเมือง Wednesday August 27, 2014 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ความมั่นใจกับคณะนักธุรกิจจากสมาคมการค้าไทย-ยุโรปที่เดินทางเข้าพบเป็นคณะแรกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือถึงการส่งเสริมการลงทุน โดยแจ้งให้คลายความกังวลเรื่องการเมือง พร้อมยืนยันภายในเดือน ก.ย.นี้จะมีคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริการประเทศ หลังจากนั้นจะใช้เวลาราว 1 ปี เพื่อปฎิรูป 11 ด้าน ไม่ให้เกิดปัญหาหลังมีการเลือกตั้งอีก
"ทางนักธุรกิจกังวลในหลายๆ เรื่อง จึงขอให้ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอันดับแรก คสช.ทราบดีว่า นักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ต่างมุ่งเน้นการลงทุนเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ต้องการเกี่ยวข้องกับการเมือง และมุ่งหวังให้มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทางคสช.จะรับไปพิจารณา เพราะ คสช.มีความเห็นตรงกับกลุ่มนักธุรกิจ และภายในเดือนกันยายนนี้จะมีคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ โดยจะใช้เวลา 1 ปี และเร่งปฏิรูปใน 11 ด้าน ให้แล้วเสร็จตามโรดแมปไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังมีการเลือกตั้งตามมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในการหารือแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศกับคณะนักธุรกิจจากสมาคมการค้าไทย-ยุโรปครั้งนี้มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.และ พล.อ ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เข้าร่วมหารือด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ คสช.มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาพูดคุยด้วย ทั้งหัวหน้าและรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.ที่รับผิดชอบขับเคลื่อนแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ รวมถึงคณะทำงานที่เกี่ยวข้องจากทุกกระทรวง ทบวง กรม และมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) เข้ามาดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านนี้โดยตรง รวมทั้งยังจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว มีการจัดตั้ง super board เพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจ ทั้งการค้า การลงทุน ในภาพรวมของประเทศ

ขณะเดียวกันสถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับและมีเสถียรภาพมาก ภาคส่วนเอกชนและนักลงทุนจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากนักลงทุนให้มากขึ้นกว่าเดิม และขอเวลาให้ไทยในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศในทุกด้าน

สำหรับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นข่าวนั้นขอยืนยันว่าไม่เคยทำ และต้องการจัดการปัญหานี้ให้หมดไปโดยเด็ดขาด ซึ่งตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา คสช.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างโดยมีทหารเข้าไปช่วยบูรณาการขับเคลื่อน ขณะที่ข้าราชการก็ยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เหมือนเดิม การดำเนินการต่างๆมีผู้เชี่ยวชาญ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้ และให้คำปรึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยหลักการทำงาน คือ รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

ส่วนเรื่อง FTA ไทย-ยุโรป นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวพร้อมจะสานต่อความร่วมมือ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามช่องทางที่เหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเพื่อขจัดอุปสรรคการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมย้ำว่าไทยไม่มีการใช้แรงงานเถื่อน ขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวหมดแล้วทุกคน

ด้านตัวแทนคณะนักธุรกิจ 4 สาขา คือ ยานยนต์ อากาศยาน โลจิสติก และสาธารณสุข) กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยขอให้ คสช.แก้ปัญหาคั่งค้างในการดำเนินธุรกิจในไทย และยืนยันยังคงเห็นไทยเป็นประเทศหลักในการเข้ามาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ