(เพิ่มเติม) รมว.เกษตรฯ ตั้งเป้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งยาง-ข้าว-ภัยแล้ง เพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ข่าวการเมือง Monday September 15, 2014 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าการทำงาน 1 ปีจะเน้นนโยบาย 2 ส่วน ส่วนแรก คืองานแก้ปัญาเร่งด่วน ซึ่งมี 4 เรื่อง คือ 1.ราคาสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา-ข้าว 2. ปัญหาภัยแล้ง 3.การแก้ปัญหาของหน่วยงานเฉพาะ เช่น เรื่องกุ้ง ต้องพัฒนาการส่งออกให้ก้าวกระโดด 4. การแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของสหกรณ์ที่มีปัญหา เช่น เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ในส่วนของยาง จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ชุดใหม่ใน 1-2 สัปดาห์ และเดินหน้าผลักดันพ.ร.บ.ยางให้สำเร็จหลังค้างคามานาน และในช่วงบ่ายนี้ จะมีการรับฟังปัญหาจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรและสถาบันยางที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อนำปัญหาทั้งหมดเสนอ กนย.ชุดใหม่ รวมทั้งตั้งวอร์รูมเพื่อดูแลปัญหาโดยเฉพาะ รวมถึงยางในสต๊อกที่ต้องจัดการโดยเร็ว

ส่วนข้าวจะเน้นการลดต้นทุนการผลิต ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมาเป็นข้าวออร์กานิค ข้าวเกษตรอินทรี เพื่อลดการใช้สารเคมี

สำหรับปัญหาภัยแล้ง เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าน้ำท่วมที่กระทบเพียงบางพื้นที่และปัญหาเริ่มทุเลาแล้ว แต่ภัยแล้งจะกระทบวงกว้างและอาจกระทบการเพาะปลูกฤดูกาลหน้า อีกทั้งนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องทำก่อนทำจริง ให้เกิดผลและยั่งยืน ซึ่งจากข้อมูลของกรมชลประทาน อาจต้องลดพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งลงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนาข้าวต้องลดพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการปลูกพืชฤดูแล้งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ รวมถึงแผนเยียวยาผลกระทบพื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากภัยแล้งไว้ล่วงหน้าด้วย

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาเฉพาะของหน่วยงานในด้านบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกกุ้ง การแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า การยกระดับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ให้เป็นสากล เช่น การปรับบทบาทกรมปศุสัตว์และสัตว์แพทย์ให้เป็นผู้กำกับโรงฆ่าและเป็นวิชาชีพที่จำเป็นต้องมี

ซึ่งในด้านปศุสัตว์นี้ ทุกปีเมื่อใกล้ถึงฤดูหนาว สิ่งที่กังวลและต้องเฝ้าระวังคือ โรคระบาดโดยเฉพาะไข้หวัดนก และประเทศไทยปลอดจากโรคไข้หวัดนกมา 6 ปีแล้ว แต่ด้านกรมปศุสัตว์ก็ไม่นิ่งนอนใจ

สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของสหกรณ์ที่มีปัญหา ซึ่งในส่วนที่มีปัญหาในศาลจะไม่ก้าวล่วงกฎหมายสหกรณ์ แต่จะให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้สหกรณ์เล็กๆ เดินหน้าต่อไปได้

ด้านนโยบายหลักส่วนที่ 2 คือ การดำเนินงานสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ได้แก่ 1. การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องปรับสมดุลระหว่างการผลิตและความต้องการของตลาด โดยเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขปัญหายางพาราในระยะยาว การจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์ม และอ้อย แผนการบริหารจัดการน้ำ

2. การพัฒนาระบบสหกรณ์ให้ดำเนินธุรกิจด้านสหกรณ์การเกษตรให้มากขึ้น รวมถึงให้สหกรณ์เป็นกลไกสำคัญในพื้นที่เขตเกษตรเศรษฐกิจพิเศษด้วย และการสร้างตลาดนัดสินค้าเกษตรในเมืองหรือจังหวัด โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่สินค้าเกษตร

3. การตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ซึ่งได้มอบหมายให้เลขาธิการ สปก.เรียกประชุมปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ เพื่อเร่งตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกิดความชัดเจนใน 1 เดือน รวมถึงกรณีที่ ส.ป.ก.ไปซื้ออาจจะต้องให้เช่นซื้อหรือขายเพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ สปก. เพื่อนำมาพัฒนา ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นระบบต่อไป

4. การผลักดันกฎหมาย และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานของกระทรวงเกษตรฯ เช่น กฎหมายยางพาราที่จะนำไปสู่การพัฒนายางระบบ

"ถึงผมจะมีระยะเวลาทำงานเพียงแค่ 1 ปี แต่ก็พร้อมและมุ่งมั่นทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งนอกจากการเร่งรัดแผนงานต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดจะขอความร่วมมือข้าราชการ อย่าให้เกิดข้อร้องเรียนกรณีมีการซื้อขายตำแหน่ง ทุจริตคอร์รัปชั่น หรือเรียกรับสินบนจากเอกชน หากพบการทุจริตพร้อมจะดำเนินการลงโทษทันที"รมว.เกษตรฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงมอบนโยบายการทำงานวันนี้ รมว.เกษตรฯ ได้แนะนำทีมที่ปรึกษาโดยมี พล.ต.อินทรรัตน์ ยอดบางเตย อดีตสว.เชียงใหม่ นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และประธานบอร์ดองค์การบริหารกิจการโคนมแห่งประเทศไทย นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตเลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายบุญมี จันทรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส อดีตรมช.คลัง ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ