กรธ.ได้ข้อยุติโครงสร้าง,ที่มา,อำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ/ที่มาส.ส.-ส.ว.

ข่าวการเมือง Wednesday November 25, 2015 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม รัฐอมฤทธิ์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบโครงสร้าง ที่มา อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี สำหรับอำนาจหน้าที่ที่จะเพิ่มให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติตามที่ คสช.เสนอมา ในส่วนวิกฤตด้านความขัดแย้งทางกฎหมาย เห็นว่า ควรจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย เพราะบางกรณีรัฐบาลอาจะเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองจึงต้องมีองค์กรที่เป็นกลางมาชี้ขาด

โฆษก กรธ. กล่าวว่า แต่เดิมทีบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาต่อเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งจากบทบัญญัติของกฎหมายหรือการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ กรธ.เห็นว่ากรณีใดที่เห็นแล้วว่าจะเป็นปัญหา แม้จะยังไม่เกิดข้อขัดแย้ง จะเปิดช่องให้องค์กรที่เห็นว่ามีปัญหาต่อการดำเนินการ สามารถยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยไม่ต้องรอให้เกิดความขัดแย้งก่อน และอาจจะมีบัญญัติกฎหมายให้สามารถชะลอการตัดสินใจในประเด็นที่เห็นชัดว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรในอนาคต

โฆษก กรธ. กล่าวว่า หน้าที่ที่เพิ่มเติมมาดังกล่าวจะมีส่วนแก้ปัญหาวิกฤติกรณีเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ในอดีต ซึ่งเราจะมีการปรับไม่ให้มีการเขียนแบบมาตรา 7 ในอดีตอยู่ลอยๆ ในบททั่วไปอีกแล้ว เพื่อไม่ให้มีใครเอาไปโยงกับสถาบัน แต่จะปรับถ้อยคำ และไปใส่ไว้ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยโดยยึดกับประเพณีปฏิบัติและเจตนารมณ์ของตัวรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ชี้ขาด แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเอาศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ที่แทน คปป.แบบในร่างของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

ส่วนที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนนั้น จะมาจากตุลาการศาลฎีกาจำนวน 3 คนที่เลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 3 คนที่เลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด, ผู้ทรงคุณวุฒิระดับศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิระดับศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์และรัฐประสาสนศาสตร์อย่างละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่าอีก 2 คน โดย 4 คนหลังนี้มาจากคณะกรรมการสรรหาที่มีโครงสร้างเดียวกับคณะกรรมการสรรหาที่คัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ

โฆษก กรธ. กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระนั้นจะมาจากบุคคลโดยตำแหน่งส่วนหนึ่ง อาทิ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาล ตัวแทนที่คัดเลือกมาจากองค์กรอิสระแต่ต้องไม่เคยเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ

ส่วนของการพิจารณาวิธีการคำนวณ ส.ส.จำนวน 500 คนที่มาจากแบ่งเขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คนนั้นมีข้อยุติลงตัวแล้ว คือใช้คะแนนทั้งหมดทั่วประเทศมาหาสัดส่วนของแต่ละพรรค หลังจากหักลบจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตของแต่ละพรรคแล้วก็จะให้เติมเต็มด้วย ส.ส. บัญชีรายชื่อแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 150 คน หากเกิดกรณีโอเวอร์แฮงก็จะใช้การเทียบบัญญัติไตรยางค์ลดสัดส่วนลงจนเหลือเท่า 150 คน

โฆษก กรธ. กล่าวว่า ที่มาของวุฒิสภา(ส.ว.) มีข้อยุติว่าจะให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน โดยไม่ใช้ระบบเลือกตั้งทางตรง และการสรรหา แต่จะให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของกลุ่มต่างๆ ที่กำลังคิดในรายละเอียดว่าจะมีกลุ่มอะไรบ้างที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ เพราะหากใช้หลักเกณฑ์ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมก็ได้ จึงต้องให้อนุกรรมการที่ศึกษาโครงฝ่ายนิไปจำแนกเรื่องกลุ่มให้ครอบคลุมมาที่สุดก่อน ซึ่งอาจมีกลุ่มสังคมกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องจับไปรวมกันเป็นกลุ่มเดียวกัน ขณะที่บางกลุ่มจะเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกกลุ่มมีโอกาสมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทางอ้อมนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ