บิ๊กจิ๋ว ปัดรับเงินจาก"ทักษิณ" เปรยไม่อยากเห็นบ้านเมืองขัดแย้งกันอีก

ข่าวการเมือง Sunday March 13, 2016 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่เคยรับเงินบริจาคจากนายทักษิณ การทำงานทางการเมืองของตนไม่เคยไปเกาะหรืออาศัยเงินทองของใคร ตนมีเจตนาที่ดี ไม่อยากเห็นบ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก และขออยู่ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง อยู่ข้างประชาชนที่ยากจน และจะคิดหาวิธีที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน เพราะความยากจนเป็นปัญหาของทุกอย่าง หากแก้ไขได้ จะแก้ได้ทุกเรื่อง

“ผมไม่เข้าข้างใคร ไม่ได้รับเงินใคร และยังมีคนเดียวที่นับถือคือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แม้ว่าผมจะอยากพบกับท่านใจจะขาด แต่ก็พบไม่ได้ เพราะพล.อ.เปรม บอกว่าไม่อยากพบนักการเมือง แต่ผมไม่ใช่นักการเมืองแค่ต้องการเข้ามาเพื่อประเทศชาติเท่านั้น ในฐานะที่เป็นคนทำงานเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด วันนี้ก็น้อยใจสื่อที่เขียนแซว ซึ่งนักข่าวรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมาผมได้ทำอะไรเพื่อบ้านเมืองบ้าง ก็อยากให้ช่วยกันอย่าสร้างความขัดแย้งอีก" พล.อ.ชวลิต กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอร้องสื่ออย่าสร้างความขัดแย้ง หากไม่ช่วยกันจะเสียดาย จะไม่มีโอกาสให้ได้ทำอีก เราจะทำให้บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนอีกไม่ได้ เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และขอให้ยุติความขัดแย้งให้ได้ ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำ เปลี่ยนความเกลียดชัง โกรธแค้น เป็นการให้อภัย ซึ่งที่ผ่านมาโกรธแค้นกันมากกว่านี้ยังให้อภัยได้

พล.อ.ชวลิต กล่าวถึงข้อเสนอของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องการให้มีส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ถูกวิจารณ์ต้องการสืบทอดอำนาจ ว่า หากมีการสรรหากันจริง ๆ ก็ทำได้ ไม่ได้สรรหาแล้วไปเชียร์อีกข้าง การสรรหาจะต้องเป็นธรรม แต่สื่อต้องเป็นตัวกลางในการนำเสนอข้อเท็จจริง และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เมื่อถามว่ากลไกพิเศษในร่างรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นแค่ไหน พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ถ้าหากมีความจำเป็นก็ทำได้ ตนไม่ได้ว่าอะไรถ้า คิดว่าดีก็ทำไปเลย

พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ได้จัดทำ “คำชี้แจง เรื่องปัญหาร่างรัฐธรรมนูญ 285 มาตรา พัฒนาหรือทำลายชาติ" มีการวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าในแต่ละมาตรามีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง และยังได้จัดทำหนังสือ “พระปิยะมหาราช ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระผู้ทรงสถาปนาแนวทางการสร้างประชาธิปไตย" มีการรวบรวมประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก เพื่อให้เห็นพัฒนาทางการเมืองและรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ