"วิษณุ" เผยรัฐบาลไม่ติดใจใครเสนอชื่อนายกฯ ขอแค่มาอย่างสง่างาม

ข่าวการเมือง Wednesday August 24, 2016 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้มีการประชุมร่วมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นการเรียกประชุมเร่งด่วนเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยให้เพิ่มจำนวนสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิม 220 คนเป็น 250 คน โดยการเพิ่มจำนวน สนช.อีก 30 คน เนื่องจากพบว่ามีข้อกฎหมายที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและออกใหม่อีกเกือบ 50 ฉบับที่ต้องพิจารณาและยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปอีกเกือบ 100 ฉบับ จึงต้องให้ผู้มีความชำนาญเข้ามาช่วยพิจารณา

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า สนช.จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 26 ส.ค.นี้ 3 วาระรวดได้หรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธย หลังจากนั้นหัวหน้า คสช.จึงจะดำเนินการแต่งตั้งได้ โดยไม่จำเป็นแต่งตั้งทั้งหมดทีเดียวด้ สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ในแม่น้ำ 4 สาย ประกอบ คสช., ครม., สนช. และสปท. หากต้องการลงสมัคร ส.ส.ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ส่วน กรธ.ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีอยู่แล้ว

ส่วนการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงนั้น รัฐบาลและ คสช.เข้าใจตรงกันว่า แต่เดิมเป็นข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอให้ สนช.พิจารณา ซึ่งข้อเสนอของ สปท.ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบทถาวร แต่ สนช.ขอปรับเปลี่ยนให้แก้ไขในบทเฉพาะกาล

ส่วนเรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดถึงในที่ประชุม สปท.ว่าจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากบัญชีพรรคการเมืองมาใส่ในตะกร้าได้หรือไม่ ซึ่งถูกทักท้วงโดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ว่าให้เคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยรอบแรกต้องเลือกนายกรัฐมนตรีในตะกร้าเป็นหลัก ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องผ่านการเห็นชอบ 376 เสียง แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็เข้าสู่กระบวนการรอบที่สอง คือ ให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันโหวตด้วยคะแนน 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง ยอมให้เอาคนนอกตะกร้าเข้ามาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็กลับมาเลือกในตะกร้ากันต่อไป

รองนายกรัฐมตรี กล่าวว่า ส่วนในรอบที่สาม ให้เอาชื่อคนที่ถูกเสนอทั้งในและนอกตะกร้ามาแข่งกัน ซึ่งถ้าใครได้รับการโหวต 376 เสียงก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนที่ว่าใครจะเป็นคนเสนอชื่อคนนอกตะกร้านั้น ต้องให้ กรธ.และ สนช.ไปหาข้อสรุป ซึ่งส่วนตัวมองว่า สนช.ไม่ควรทำ แต่เป็นเรื่องของ กรธ.ที่ต้องทำ แต่วันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่พูดกันว่าคนนอกกับคนในนั้นความหมายคือ คนนอกตะกร้ากับคนในตะกร้า เมื่ออยู่ในตะกร้า ไม่ว่ามาจากไหนถือว่าเป็นคนที่พรรคนั้นเสนอและประกาศให้ประชาชนรู้แต่แรก ไม่ใช่มาพูดกลางสภาในวันที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี และหากพรรคนั้นได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน จะไม่มีสิทธิเสนอรายชื่อในบัญชีเป็นนายกรัฐมนตรี มีสิทธิ์เพียงแค่โหวตเลือกเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีพูดเมื่อวันที่ 23 ส.ค.59 คือ คนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาอย่างสง่างาม เพราะคนเราไม่มีอะไรสำคัญกว่าความสง่างาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ