"ยิ่งลักษณ์" มอบทนายยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอความเป็นธรรม-ค้านใช้ ม.44 ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว

ข่าวการเมือง Monday September 26, 2016 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดลลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ศูนย์บริการประชาชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีฝั่ง ก.พ.เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559

นายนพดล กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้มายื่นหนังสือ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจพิเศษของหัวหน้า คสช. โดยอ้างเหตุผล 4 ประการ คือ 1.การออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจพิเศษก่อนการตรวจสอบแล้วเสร็จถือเป็นการชี้นำให้ผลตรวจสอบออกมาได้ในทางเดียวคือต้องรับผิดเป็นการไม่ชอบ แต่ควรให้กระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จก่อนถึงจะออกคำสั่ง 2.ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ไม่เป็นไปตามหลักการและเงื่อนไขของมาตรา 44 เนื่องจากคดีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกคำสั่งในการโอนหน้าที่จากหน่วยงานปกครองไปยังเจ้าหน้าที่บังคับคดีเพราะมีกฎหมายปกติใช้อยู่ รวมทั้งการออกคำสั่งเลือกปฏิบัติเฉพาะกรณีเป็นการไม่ชอบ ซึ่งที่ผ่านมาการใช้คำสั่งทางละเมิดมีหลายคดี แต่ไม่ได้ออกคำสั่งเป็นกรณีพิเศษเช่นนี้ 3.การออกคำสั่งใช้บังคับเฉพาะคดีข้าวเป็นการขัดต่อกฎบัตรของสหประชาชาติ และ 4.การออกคำสั่งให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่แทนหน่วยงานเป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาล ซึ่งปกติการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดีจะต้องเป็นอำนาจของศาล การออกคำสั่งเช่นนี้ทางผู้เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจจะโต้แย้งคำสั่งไปยังหน่วยงานใดได้

"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝากขอความเป็นธรรมเพราะกรณีของท่านเป็นเรื่องของนโยบายไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการค้าหรือหากำไรแต่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ยืนยันท่านไม่มีส่วนในการทุจริตเพราะดำเนินตามนโยบายที่คล้ายคลึงกับรัฐบาลในอดีตและปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่ หากการดำเนินการตามนโยบายสาธารณะของรัฐไม่ถูกต้องอย่างไรควรให้ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาด ไม่ใช่ให้หน่วยงานทางปกครองมาชี้ขาด" นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า การออกคำสั่งพิเศษเป็นการลัดขั้นตอน และหลังจากยื่นหนังสือแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายเปิดทางให้ไว้ เว้นแต่จะมีการออกกฎหมายพิเศษมาลดสิทธิให้น้อยลง

นายนพดล กล่าวว่า หากให้ศาลยุติธรรมชี้ขาดคดีก็ไม่เลยอายุความ เพราะหลังจากศาลยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดจะมีเวลาในการบังคับคดีถึง 10 ปี ซึ่งเป็นกลไกปกติ แต่ที่รัฐบาลทำอยู่เป็นการกระทำแบบกลไกพิเศษซึ่งไม่เป็นธรรม จึงควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินเรียกค่าเสียหายมากกว่าใช้กลไกทางปกครอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ