โฆษก ป.ป.ช.ยัน"ภักดี โพธิศิริ"มีสิทธิได้รับเงินเดือน-ค่าตอบแทน เหตุมีคุณสมบัติเป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาตั้งแต่ต้น

ข่าวการเมือง Monday October 10, 2016 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า นายภักดี โพธิศิริ มีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น มีผลให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนในตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช หลังมีข่าวทางสื่อสาธารณะในทำนองว่ามีการยื่นคำร้องและติดตามผลไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ดำเนินการเรียกคืนเงิน เงินเดือน และผลตอบแทนจากนายภักดีเนื่องจากขณะรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด ภายในกำหนด 15 วัน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 ข้อ 5 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 11 วรรคสอง ทำไม่มีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น

โดยการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเอกสารเรื่องเดียวกับที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ใช้แถลงต่อวุฒิสภาว่า นายภักดี ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด เกินกว่า 15 วัน นับแต่วันดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 11 เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดีพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเอกสารที่ได้ปรากฏต่อที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว ซึ่งในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2555 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติไม่ให้นายภักดี โพธิศิริ พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าวุฒิสภาผู้มีอำนาจลงมติถอดถอนกรณีกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายได้พิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนนี้จนได้ข้อยุติไปแล้ว

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต, พล.อ.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต, นายปลอดประสพ สุรัสวดี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่า นายภักดีแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. โดยเข้าประชุมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่นายภักดีเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อันเนื่องจากมีการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรเกิน 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ทั้ง 5 คน ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1066/2558 หมายเลขแดงที่ 10431/2558 ซึ่งศาลอาญาได้พิเคราะห์ไว้ในคำพิพากษา โดยสรุปว่า เมื่อนายภักดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีอำนาจตามกฎหมาย ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า นายภักดีขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และให้เพิกถอนพ้นจากการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด นายภักดีจึงยังคงมีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 19 การเข้าประชุมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นการกระทำของนายภักดีจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง


แท็ก ป.ป.ช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ