นายกฯ เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ย้ำสร้างจิตสำนึกร่วมปราบทุจริตสร้างศก.ไทยให้เข้มแข็ง

ข่าวการเมือง Friday December 9, 2016 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลว่า ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาคอร์รัปชันเป็นศัตรูร้ายต่อการพัฒนาประเทศทั้งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ และทำให้การบริหารราชการล้มเหลว สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ส่วนราชการต้องเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใสสามารถตรวจสอบ รวมทั้ง ทำความเข้าใจต่อกัน ช่วยตรวจสอบเฝ้าระวัง เพื่อให้ผลลัพธ์ของการดำเนินงานเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชน ท้องถิ่น จังหวัด หรือในภาพรวมระดับประเทศ

ประเด็นสำคัญ คือสังคมต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และต้องช่วยกัน เมื่อรู้ว่ามีการกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือองค์กรใด ต้องร่วมมือกันเพื่อให้การต่อต้านการทุจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เมื่อปี 2557 ประเทศไทยได้อันดับที่ 85 ในปี 2558 ได้อันดับที่ 76 ส่วนปี 2559 ก็หวังว่าอันดับความโปร่งใสคงจะดีขึ้นอีก

ปัจจุบันสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยดีขึ้น ผู้ที่ทุจริตจะถูกต่อต้านและถูกลงโทษทั้งจากกฎหมายและสังคม รวมทั้งมาตรการเสริมทั้ง 5 ด้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้ ได้แก่ ด้านที่ 1 เสริมกลไกการแก้ปัญหาการทุจริตใน 3 ระดับ คือระดับชาติที่เรียกว่าคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช) ระดับการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และระดับปฏิบัติการที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวง (ศปท.) ด้านที่ 2 ส่งเสริมให้ส่วนราชการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และอยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ด้านที่ 3 เสริมกลไกการปฏิบัติ ด้านที่ 4 เสริมมาตรการทางกฎหมาย และด้านที่ 5 เสริมสร้างความเชื่อมั่นและการรับรู้ให้กับสังคม

พร้อมกับต้องมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน 3 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 คนทุจริตรายเก่าหมดไป ด้านการปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายที่ 2 คนทุจริตรายใหม่ต้องไม่เกิด ด้านการป้องกันอย่างครบถ้วน และเป้าหมายที่ 3 ไม่เปิดโอกาสให้ทุจริต ให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง สร้างพลังและเปิดพื้นที่ข่าวสารในการปลุกกระแสต่อต้านการทุจริต

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แนวทางในการที่จะช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แนวทางประชารัฐ โดยต้องรวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน และเปิดช่องทางให้ “ประชา” หรือภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ทุกพื้นที่ อันจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งมาตรการเบื้องต้นจำเป็นต้องช่วยเกษตรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งบางมาตรการอาจมีชื่อเรียกคล้ายกับนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ขออย่าวิพากษ์วิจารณ์ในทุกเรื่องจนแก้ปัญหาไม่ได้ แต่อยากให้มองวิธีการที่ทำให้เม็ดเงินและความช่วยเหลือถึงมือประชาชน โดยไม่มีการทุจริตและส่งให้เกิดผลดีทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง ซึ่งทุกอาชีพที่มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือ เติมเงินในบัญชีเพื่อให้นำไปตั้งตัว สร้างรายได้ให้เพียงพอ เพื่อนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบภาษีของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันรัฐบาลได้วางแนวทางยกระดับรายได้ เสริมเข้มแข็งในระยาว เช่น การปรับโครงสร้างทางการเกษตร

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลยังคงเจตนารมณ์ที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยจะไม่ยอมให้เกิดการคอร์รัปชันขึ้นได้อีก หากใครพบเห็นหรือมีการแอบอ้างเพื่อรับผลประโยชน์ก็ขอให้แจ้งข้อมูลเข้ามา ซึ่งตนเองพร้อมที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ขณะนี้รู้สึกไม่พอใจกับผลการจัดอันดับการศึกษาของไทยที่หล่นลงไปจากการวัดคะแนนล่าสุด ซึ่งไม่อยากจะโทษใคร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ