"สุวิทย์" เตรียมเสนอนายกฯ เพิ่มบทบาทวิป 3 ฝ่ายเป็นกรรมาธิการในปยป.

ข่าวการเมือง Monday January 16, 2017 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) กล่าวถึงการเดินสายพูดคุยกับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการตั้ง ปยป. ว่า เมื่อช่วงเช้าได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยพูดคุยถึงการทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมการปฏิรูป และได้เสนอให้เพิ่มบทบาทของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากเดิมที่มีเพียงตัวแทนมาคุยกัน เป็นให้เพิ่มกรรมาธิการของ สนช.และ สปท.มาร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปและสร้างความปรองดองด้วย เป็นการแปลงวิป 3 ฝ่ายเป็นกรรมมาธิการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ

ขณะที่รายชื่อรองนายกรัฐมนตรีที่จะมานั่งใน 4 คณะย่อยของ ปยป.นั้นยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีรายชื่อปรากฏออกมา โดยนอกจากรองนายกรัฐมนตรีแล้วจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

นอกจากนี้ ตนเองได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถึงโครงสร้างของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อหาแนวทางว่าการสร้างความปรองดองจะผนวกรวมกับการปฏิรูปได้อย่างไร โดยเฉพาะการขับเคลื่อนคณะกรรมการที่ พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบดูแล รวมถึงอีก 3 คณะที่เหลือ ซึ่งจะรายงานผลการหารือทั้งหมดต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบ

นายสุวิทย์ กล่าวถึงการจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ที่คาดว่าจะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดตั้งสำนักงานนี้ โดยวางโครงสร้างองค์กรให้สามารถตั้งขึ้นง่าย ยุบง่าย 2 ปีต้องจบ หากรัฐบาลหน้าจะทำต่อก็สามารถทำได้ โดยดึงคนที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาทำงาน และต้องมีความคล่องตัว มีงบประมาณเป็นของตัวเอง เบื้องต้นจะเสนอให้ใช้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งยังเหลือโควต้าที่ยังไม่แต่งตั้งเข้าให้มาทำงานปฏิรูประดับบัญชาการใน 10 เรื่อง แบ่งเป็น 10 ทีม โดยจะสรรหาคนที่เก่งและดีมาทำงานตรงนี้ ไม่เกิน 10 คน จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานระดับรองลงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยคณะทำงาน คณะทำงานโดยใช้ระบบจัดจ้างพิเศษ

"บทบาทของ PMDU คือการตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของ ป.ย.ป. ที่สำคัญคือสามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้ โดยรายงานตรงต่อนายกฯ และการทำงานจะไม่ล้ำเส้นบทบาทของรองนายกฯ เป็นหน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ ผลงานที่ออกมาจะเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่พีเอ็มดียู เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผล" นายสุวิทย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ