(เพิ่มเติม) ประธาน สนช.ยันไม่เลื่อนถก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพรุ่งนี้หวั่นกระทบปัญหาพลังงาน ส่วนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติรอหาข้อยุติ

ข่าวการเมือง Wednesday March 29, 2017 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) ที่ประชุม สนช.จะไม่เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะหลักการอื่นๆ ของกฎหมายยังมีอยู่และต้องดำเนินการต่อไป ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการค้นหาพลังงานของประเทศ ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะต้องหาข้อยุติโดยการอภิปรายของสมาชิก สนช.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายพรเพชร กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการพูดคุยเรื่องความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยได้รับการชี้แจงจาก พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ.ฯ เกี่ยวกับการเพิ่มมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นของ กมธ. หลังรับฟังข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิว่า ควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินการเรื่องปิโตรเลียม เนื่องจากระบบการปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้สัมปทาน และยอมรับว่าการเพิ่มเนื้อหาในเรื่องนี้อยู่นอกหลักการของกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะร่างกฎหมายฉบับที่รัฐบาลส่งมาให้พิจารณาเป็นระบบสัมปทาน ดังนั้นจึงต้องได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

ประธาน สนช. กล่าวว่า ตนเองได้ตรวจสอบแล้วพบว่าในร่างกฎหมายดังกล่าว บัญญัติเพียงว่า หากจะดำเนินการในลักษณะของบรรษัทเช่นนี้จะต้องศึกษาความพร้อมอย่างไร ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายแบบเปิดทางไว้เท่านั้น ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นจริงๆ เนื่องจากมีแนวคิดว่านอกจากระบบสัมปทานแล้วก็ควรมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปดำเนินการเอง

ส่วนการพิจารณาของ สนช.จะถือว่าขัดต่อกฎหมายส่วนอื่นหรือไม่ เพราะในร่างแรกได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว แต่ในส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือร่างของรัฐบาล แต่ที่ระบุว่าต้องเดินหน้าต่อไป คือ เดินหน้าในส่วนที่ไม่ได้ขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอใหม่จะต้องพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไร หากดำเนินการได้ก็เดินหน้าต่อ แต่หากยังดำเนินการไม่ได้ก็ต้องหาทางออกต่อไป

"ขณะนี้ยังคาดเดาอนาคตไม่ได้ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา สนช.เคยแก้ไขกฎหมายในชั้นกรรมาธิการเช่นนี้มาแล้ว 3-4 ครั้ง และการพิจารณาของ สนช.มีหลายรูปแบบ ทั้งการโหวต การประนีประนอม หรือบางครั้งกรรมาธิการจะนำร่างกลับไปพิจารณา จึงต้องดูสถานการณ์และเปิดให้อภิปรายก่อน เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของสมาชิก ซึ่งจะพยายามให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ" นายพรเพชร กล่าว

ประธาน สนช. ยอมรับว่า รู้สึกเป็นกังวลที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อยากให้เข้าใจว่า กฎหมายสามารถปรับปรุงแก้ไขได้เสมอในอนาคต เพราะกฎหมายไม่ตายตัว วันนี้ทำให้ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลนี้ ส่วนจะดำเนินการพิจารณากฎหมายตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำเมื่อใด แต่ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ไปแล้วกว่า 70-80% ทั้งการรับฟังความเห็นรอบด้าน การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายที่มีต่อประชาชน และการรับฟังความเห็นของประชาชน

"กรณีดังกล่าวทำให้เป็นประเด็นจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผลักดันเรื่องนี้มองว่าร่างกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาไม่สมบูรณ์และไม่ชัดเจน ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายเดิมก็มองว่าเพิ่มเติมขึ้นมาได้อย่างไร" นายพรเพชร กล่าว

ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กล่าวว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำแห่งชาติไม่ใช่แนวคิดใหม่ เคยมีการศึกษาและเสนอเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลในสมัยที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวากุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี

แต่ร่างที่ ครม.เสนอกลับมาไม่ได้กำหนดให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ กมธ.จึงพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อกำกับดูแลระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยได้กำหนดเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนอกเหนือจากเดิมที่มีเพียงระบบพลังงาน

และขอยืนยันว่า ทหารและ กมธ.ทั้ง 21 คนที่ร่วมพิจารณาเรื่องนี้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว

ส่วนกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเปิดช่องให้กรมพลังงานทหารเข้ามาดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดตาม พ.ร.บ.นี้ คือ รมว.พลังงาน แต่กรมพลังงานทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อคิดค้นพลังงานใช้ในการปกป้องประเทศ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจน้ำมัน

และการที่ กมธ.ไม่กำหนดโครงสร้างของบรรษัทน้ำมันที่ชัดเจนไว้ในมาตรา 10/1 เนื่องจากมองว่าหากเขียนแบบผูกขาดจนเกินไปจะยากต่อการปฏิบัติของรัฐบาล เพราะไม่มั่นใจว่า ในอนาคตจะมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงโครงสร้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะบริหารจัดการอย่าง และไม่กังวลหากจะมีการชุมนุมคัดค้าน เพราะเป็นความเห็นต่าง เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ