สปท.เตรียมพิจารณาพ.ร.บ.สื่อ 1 พ.ค.นี้ ส่วนจะตีกลับให้ทบทวนใหม่หรือไม่ต้องรอผลก่อน, กมธ.ฯ มั่นใจผ่านร่าง

ข่าวการเมือง Thursday April 27, 2017 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สปท. (วิป สปท.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ค.สปท.จะพิจารณารายงานการปฏิรูปของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน จำนวน 2 เรื่อง 1.การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน : ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... และ 2.ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์

ที่ผ่านมาวิป สปท.ได้มีการพิจารณาแล้ว และมีมติให้นำกลับมาทบทวนตามที่วิป สปท.เสนอความเห็นต่อม กมธ.สื่อฯ 3-4 ประเด็น ก่อนที่จะเสนอกลับมายังวิป สปท.อีกครั้ง ซึ่งจากการหารือทาง กมธ.สื่อฯ ยังคงยืนยันความเห็นเดิมว่ากมธ.ได้มีการทบทวนแล้ว และยืนยันในประเด็นที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.สื่อ กับ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ได้ออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาเป็นระยะๆ

"การนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่การตอบโต้ไปมาระหว่างตัวแทนองค์กรสื่อกับกมธ.สื่อ ส่วนจะมีโอกาสที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกตีกลับมาทบทวนอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร" นายคำนูณ ระบุ

ด้านพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.เชื่อว่า กรณีที่ สปท. เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ที่ประชุม จะให้ความเห็นชอบ แต่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายยังมีหลายขั้นตอน อาทิ ผ่านรัฐบาล, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสามารถปรับแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้

ทั้งนี้ยืนยันว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากระหว่างจัดทำนั้นมีนักกฎหมายที่คอยดูแลอยู่ แต่หากมีเนื้อหาใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น มาตราว่าด้วยการไม่ทำกฎหมายที่สร้างภาระหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพเกินความจำเป็นนั้น ก็อาจปรับแก้ไขในประเด็นที่ขัดดังกล่าวได้

เมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้ เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรู้กฎหมายและเข้ามาลงทะเบียนกับทางหน่วยงานหรือสภาวิชาชีพสื่อมวลชน แต่หากใครไม่ต้องการลงทะเบียนก็ให้รีบตั้งสื่อของตนเอง เพราะตามร่างกฎหมายจะอนุโลมให้สื่อที่ตั้งก่อนกฎหมายนี้ออก จะได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ

ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวไม่เป็นการครอบงำสื่อ เพราะว่าอาชีพอื่นๆ ในประเทศไทยก็มีใบอนุญาตจำนวนมาก เพื่อติดตามการปฏิบัติหน้าที่ว่าถูกต้องตามหลักวิชาชีพหรือไม่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงเขียนว่าหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีระบบใบอนุญาต แต่ความเห็นส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ว่าอาชีพสื่อสารมวลชนควรมีใบอนุญาตหรือไม่ เพียงแต่พูดตามหลักการเท่านั้น ดังนั้น สมาคมสื่อมวลชน ควรรวมตัวกันเพื่อชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรมีใบอนุญาต

สำหรับองค์ประกอบของกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการให้มีสัดส่วนจากภาครัฐแค่ 2 คน คือปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 15 คนนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะตัวแทนของภาครัฐถือว่าเป็นเสียงข้างน้อยในสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชน ถ้าหากสื่อจับมือรวมเสียงกันก็คงโหวตชนะอยู่แล้ว

การเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการด้วย เพื่อไม่ให้คนในวิชาชีพกีดกันกันเองจนเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ต้องหาเหตุผลโต้แย้งพร้อมเสนอแนวทางการกำกับดูแลกันเอง โดยที่คนนอกไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ