นายกฯ ประชุมคกก.ปฎิรูปประเทศ เดินหน้าปรับปรุงกม.เป็นสากล วอนอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday July 12, 2017 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ขณะนี้ ป.ย.ป.ยังเดินหน้าขับเคลื่อนงานต่อไปแม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ในวันที่ 24 ก.ค.นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแผนการปฏิรูปราชการแผ่นดินใน 7 วาระสำคัญ ประกอบด้วย การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูประบบตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทั้งหมด การปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลที่มีความคล่องตัว และมีการผ่องถ่ายภารกิจไปยังภาคส่วนอื่นๆ การปฏิรูปการบริหารจัดการกำลังพลในภาครัฐ การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง การปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิตอล และ การยกระดับการให้บริการประชาชน ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งทั้ง 7 เรื่องซึ่งถือเป็นการปฏิรูประบบราชการ 4.0 ที่ให้กลไกประชารัฐเข้ามามีส่วนร่วมให้ภาคประชาชนและเอกชนที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาทำงาน

พร้อมกันนี้ก็จะมีการเชิญบุคคลสำคัญ ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานทั้ง 7 ด้าน อาทิ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาช่วยปฏิรูปด้านงบประมาณ และนายเทวินทร์ วงศ์วาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เข้ามาดูเรื่องการยกระดับการให้บริการภาคประชาชน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า จะมีการนำเสนอแผนงานที่สำคัญและจะผลักดันให้สำเร็จภายใน 3 เดือน และดำเนินการภายในปี 60 เช่น การปรับลดระยะเวลาและขั้นตอนการให้บริการภาคประชาชนให้ได้ 30-50% การปรับกระบวนงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้เป็นดิจิตอล รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดภาระงานเอกสารของประชาชน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือการปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย ที่ปัจจุบันยังไม่สะท้อนกับความเป็นจริง โดยได้มีการว่าจ้างให้ นาย Scott Jacob ที่ปรึกษากฎหมาย ชื่อ Jacobs, Cordova & Associates ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศเกาหลีใต้ ในการยกระดับประเทศให้เป็นประเทศทีมีมาตรฐานสูงขึ้น โดยจะให้มาช่วยดูเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและทำงานให้เสร็จภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่าจะต้องดำเนินการปฏิรูปกฎหมายทำให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายได้ง่ายขึ้น

ซึ่งทางคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย เสนอการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ หรือการดำเนินงานธุรกิจของประชาชน กฎหมายที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็นต่อประชาชน ตรวจสอบและติดตามกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ และเสนอกฎหมายที่จัดทำกฎหมายใหม่ที่จำเป็น เช่น กฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ประชาชนเร่งรัดทวงถาม ฟ้องร้องให้รัฐปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐ กฎหมายว่าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการหรือกิจกรรมของรัฐ ​และการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ (One stop Service)

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เร่งรัดการจัดทำกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อ เสนอให้ สนช.พิจารณาต่อไป ซึ่งการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการดำเนินการ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 ต้องมีความชัดเจนและ ต้องสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ทราบถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาโดยการออกกฎหมาย หรือการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างใน 8 เรื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การกระจายถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม การปฏิรูประบบความมั่นคงทางอาหาร การปฏิรูประบบภาษีให้มีความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม การศึกษาและระบบบริหารราชการ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาควาสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศว่า ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปได้เดินหน้าในทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมาย ให้เป็นสากล โดยต้องคำนึงถึงอัตตลักษณ์ของความเป็นไทยด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้ทุกคนใส่ใจกับกฏหมายมากขึ้น ไม่อยากให้มองว่ารัฐบาลออกกฏหมายมาเพื่อควบคุม เพราะกฏหมายถูกใช้เพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม หากมีการออกกฏหมายเรื่องใดแล้วส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาตามมาก็ต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ให้เป็นเหมือนอดีตที่ผ่านมา และอย่ามองว่ากฏหมายเป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกันจะมีการจัดระเบียบวาระการปฏิรูป 37 วาระเข้าหมวดหมู่ให้เหลือเพียง 11 วาระ และนำกิจกรรมมาปรับใช้ให้เกิดแผนปฏิรูปที่ต้องสอดคล้องกับ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ