โพลระบุ ปชช.เห็นด้วยปฏิรูปตำรวจแยกระบบงานจับกุมและงานสอบสวนออกให้เป็นสัดส่วน

ข่าวการเมือง Saturday August 5, 2017 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะนิติศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปฏิรูปตำรวจอย่างไรจึงจะได้ใจประชาชน" เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจในระบบงานสืบสวนสอบสวน จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแยกระบบงานสอบสวนออกจากตำรวจ เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระและความยุติธรรมในการดำเนินคดีอาญาให้กับประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.75 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการแยกระบบงานจับกุมและงานสอบสวนออกให้เป็นสัดส่วน เช่นเดียวกับในบางประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าว เป็นการช่วยลดภาระงานของตำรวจ และป้องกันการใช้อำนาจในการสอบสวนในทางที่ผิด สร้างความเชื่อมั่นในระบบงานสอบสวนมากขึ้นมีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น และประชาชนต้องการเห็นแนวทางใหม่ ๆ ในการปฏิรูปตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 24.31 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเพราะ การสืบสวนสอบสวนถือเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดี เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์หากแยกงานระบบสอบสวนออกไป อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ล่าช้า และขาดความต่อเนื่อง ร้อยละ 0.55 ระบุว่า จะเป็นหน่วยงานใดสอบสวนก็ได้ แต่ขอให้เกิดความยุติธรรมกับ ทุก ๆ ฝ่าย และร้อยละ 5.39 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปี หรือคดีที่มีการร้องเรียน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.83 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการป้องกันการทุจริตในระบบงานสอบสวนเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ที่อาจโดนยัดเยียดข้อกล่าวหาจนนำไปสู่การจับผู้ต้องหาผิดตัว ซึ่งอัยการเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจ แบ่งการทำงาน ช่วยกันดูแลตรวจสอบ และมีความเป็นกลางมากขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 12.83 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะมีฝ่ายที่คอยตรวจสอบและควบคุมอยู่แล้ว อัยการมีภาระงาน เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว อาจเกิดความซ้ำซ้อน อีกทั้งไม่มั่นใจในเรื่องของความโปร่งใส ความเป็นกลาง และประสบการณ์ในการควบคุมงานสอบสวนของอัยการ ร้อยละ 0.35 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับรูปคดี และควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 6.99 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ควรได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.61 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการทำงานร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย กระบวนการต่าง ๆ จะได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชัดเจน ป้องกันการจับแพะ หรือการยัดเยียดคดีให้กับผู้ต้องหา เป็นการสร้างความโปร่งใสและความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหามากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 29.15 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ กระบวนการต่าง ๆ อาจจะล่าช้า และยุ่งยากจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อรูปคดี เพราะบางคดีต้องใช้ความรวดเร็วในการออกหมายจับและยังไม่เชื่อมั่นต่อการพิจารณาและการตัดสินใจของอัยการ ร้อยละ 0.65 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับรูปคดี และควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 7.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคลเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.31 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้มีหลักฐานเก็บไว้เพื่อการตรวจสอบ หลักฐานที่มีอยู่จะเป็นหลักฐานที่แท้จริง ไม่มีการบิดเบือน ในกรณีที่เกิดปัญหาการร้องเรียน เช่น การข่มขู่ผู้ต้องหา จะได้มีหลักฐานยืนยัน ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ต้องหาและเจ้าพนักงานสอบสวน เป็นการป้องกันความคลาดเคลื่อนของรูปคดีและสร้างมาตรฐานใหม่ในการสอบสวนหรือการให้ปากคำ ขณะที่ ร้อยละ 6.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป การสอบปากคำควรเป็นความลับ ทั้งนี้ผู้ต้องหาอาจถูกบังคับหรือข่มขู่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตของผู้ให้ปากคำ กรณีหากมีข้อมูลรั่วไหลออกมา ร้อยละ 0.80 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับรูปคดี และควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 2.05 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ

คณะนิติศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 29 กรกฎาคม 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,003 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจในระบบงานสืบสวนสอบสวน การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.1


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ