"ประกาศเลือกตั้งปี 61"โจทย์สำคัญ"บิ๊กตู่"ลั่นวาจาคำโต

ข่าวการเมือง Wednesday October 4, 2017 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เส้นทางสู่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ยังคงเป็นคำถามที่ยังต้องการคำตอบ แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการกำหนดไทม์ไลน์ให้เลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเดือน ส.ค.61 แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับจากฝ่ายอื่น ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งรัฐบาล คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่อย่างใด จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีไปลั่นวาจากับประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 61 ชัวร์ๆ

หากมองถึงโรดแมพตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 267 ให้มีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ พร้อมขีดเส้นว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องร่างให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ก่อนจะมีการเตรียมการสู่การเลือกตั้งนั้น ซึ่งการหาเสียงและเลือกตั้งใช้เวลา 150 วัน และขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลอีก 90 วัน

แต่มีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด กรธ.ได้พิจารณากฏหมายลูก เสร็จแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังเหลือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่ล่าสุด กรธ. ได้กางปฏิทินส่งร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว. ในวันที่ 21 พ.ย. และร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. 28 พ.ย.นี้

โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. แม้จะเหมือนเป็นการเซตซีโร่ กกต. แต่ กกต.ยังเดินหน้าทำงานเต็มที่ ล่าสุด กกต.มีการจัดประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง และได้กำหนดกรอบเวลาในการเตรียมการในส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ได้มีการกำหนดคร่าวๆ โดยวางกรอบว่าร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.61

จากนั้น กกต.จะมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย.61 หลังจากนั้นจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และช่วงวันที่ 9 มิ.ย.61 คาดว่า กกต.จะสามารถประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร วันเวลาและสถานที่ในการจับสลากของพรรคการเมือง การเสนอชื่อนายกฯ รวมไปถึงการยื่นบัญชีสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อนั้น โดยวางกรอบไว้ในช่วงวันที่ 2-6 ก.ค.61

ขณะที่การจัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลาดังกล่าววางไว้ในวันที่ 19 ส.ค.61 ทั้งนี้นอกจากการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วยังมีการวางกรอบเวลาในการสรรหา ส.ว.ว่า อาจจะแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.โดยวางกรอบว่าจะประกาศผลรายชื่อ ส.ว. 200 คน ในวันที่ 8 มิ.ย.61

ทั้งนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ได้กล่าวไว้ว่า กรณีที่ประชุมเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งได้เสนอแผนการทำงานและระบุว่าถึงวันเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นตามโรดแมพของรัฐบาลว่าเป็นวันที่ 19 ส.ค.61 นั้นว่า เป็นตารางการทำงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ยังไม่ใช่กำหนดจริง เพราะกฎหมายยังไม่ออก แต่ กกต.จำเป็นต้องมีแผนไทม์ไลน์เพื่อกำหนดการทำงาน หากไม่มีอาจทำให้เกิดความฉุกละหุก

แต่แม้จะมีตุ๊กตาวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ฟากฝั่งรัฐบาล สนช. และกรธ. กลับไม่ได้รับลูกด้วย และไม่มีใครกล้าฟันธงได้ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้รัฐบาลเพียงยืนยันว่ายังคงเดินหน้าตามโรดแมพที่วางไว้เท่านั้น

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฏหมายของรัฐบาล ปฏิเสธที่จะฟันธงว่าการเลือกตั้งจะเป็นช่วงเวลาใด แต่ตั้งคำถามกลับไปยัง กกต.ว่า "กกต.นับเพียงแค่ว่าเมื่อกฎหมายลูกผ่านสภาเมื่อไหร่ให้นับต่อไปอีก 5 เดือน แล้วกกต.ไม่รอเวลาทูลเกล้าฯ กฎหมายหรือ"

แม้ฝั่งกุมอำนาจยังไม่กล้าระบุวัน เวลา เลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ฝั่งผู้เล่นอย่างนักการเมืองกลับหวังลึกๆ ที่จะเห็นบรรยากาศเดินเคาะประตูบ้านเพื่อแนะนำตัว ลงสมัคร ชิงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งให้ได้เร็วที่สุด อย่างน้อยก็ในปีหน้า ล่าสุดคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมากระทุ้งว่า แม้รัฐบาลระบุว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ แต่ส่วนตัวก็ไม่สามารถตอบได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปี 61 หรือไม่ และตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลว่าหากรัฐบาลบิ๊กตู่ต้องการจะอยู่ยาวก็ควรออกมาพูดให้ชัด เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ พร้อมย้ำว่าหากไม่มีการเลือกตั้งนักการเมืองคงจะไม่เดือดร้อน แต่เป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า

ทางด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคยังคงเชื่อว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมพที่ได้วางไว้ หากยึดตามกรอบรัฐธรรมนูญมีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ก็น่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย.61 ถึงแม้ในขณะนี้นายกรัฐมนตรีจะยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ แต่การที่รัฐบาลได้ตั้งคำถามสี่ข้อที่สอบถามไปยังประชาชน ถือเป็นการส่งนัยสำคัญ ที่อาจเป็นการแสวงหาแนวร่วมและอยากเห็นมุมมองของประชาชน

ขณะที่ทางด้านพรรคที่ถูกจับตาอย่างพรรคภูมิใจไทย กลับแสดงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปี 61 หรือช้าสุดคือปี 62 ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคมองว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาสัญญาและทำตามโรดแมพที่วางไว้ เพราะหากไม่สามารถรักษาสัญญาได้ก็จะมีแรงกดดันจากหลายด้าน ซึ่งในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองประกาศชัดเจนว่า มีความพร้อมที่จะลงสนามการเลือกตั้งแล้ว

แต่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่มีการกำหนดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับแล้วเสร็จ ไม่ได้เขียนไว้ว่าหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบแล้วจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้

อย่างไรก็ตาม นายปริญญา เห็นว่าการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน และน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 61

หากจะมองให้เห็นภาพ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ คงต้องมีรอให้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ปฏิทินที่จะเดินสู่การเลือกตั้งถึงจะถูกนับหนึ่งได้ และถ้าจะนับตามกรอบเวลาการเลือกตั้งอย่างช้าสุด ต้องเกิดขึ้นในช่วง"ปลายปี 2561" นับจากช่วงเวลาหลังจากนี้จะเหลือเวลาเพียง 1 ปีเศษๆเท่านั้น เว้นแต่จะมีสถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เหลือหรือไม่ เพราะระดับมือกฏหมายของรัฐบาล อย่างนายวิษณุ เคยกล่าวไว้ว่า การเลือกตั้งจำเป็นต้องดูสถานการณ์ เหตุการณ์ ณ ช่วงเวลานั้นด้วย ซึ่งจะนำมาประกอบการในการกำหนดวันเลือกตั้ง

แต่หากฟังจากปากของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวล่าสุดในโอกาสไปเยือนสหรัฐ ระบุว่าได้พูดกับประธานาธิบดีสหรัฐฯว่าในการเดินหน้าตามหลักประชาธิปไตยสากลนั้นจะเป็นไปตามโรดแมพ ซึ่งในปีหน้าเราจะประกาศวันเลือกตั้ง โดยไม่มีการเลื่อนใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อประกาศแล้วก็จะมีกรรมวิธีของการเลือกตั้งคือนับไปอีก 150 วันตามกฎหมาย

แน่นอนว่า ถึงอย่างนั้นก็คงยังฟันธงไม่ได้ว่าวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่ จนกว่านายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.จะเป็นผู้ประกาศวัน-เวลาที่ชัดเจน หลังจากนั้น คงได้นับถึงกับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังจากว่างเว้นมานานนับ 6 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ