วิบากกรรม"ทักษิณ"หลัง ป.ป.ช.ปัดฝุ่นรื้อคดีเก่า-อัยการฯจ่อเดินตาม ปิดทางหวนคืนการเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday November 8, 2017 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนหลังกลับไปสัก 10 ปีก่อน นับตั้งแต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ตามคำร้องเมื่อวันที่ 29 ก.ค.51 จนถึงทุกวันนี้ นายทักษิณก็ยังไม่ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกเลยหลังต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปีในคดีดังกล่าว ฐานฝ่าฝืนมาตรา 100 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ โดยนายทักษิณยังคงร่อนเร่พเนจรหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศเรื่อยมา

ผลที่ตามมาหลังคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุด กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทางทูต (พาสปอร์ตแดง) , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ดำเนินการพิจารณาถอดยศ เป็นต้น ขณะที่กระบวนการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่นำขึ้นสู่ศาลแล้วต้องหยุดชะงักลงเพราะไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาขึ้นศาลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จวบจนกระทั่งวันนี้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2650 ที่เปิดทางให้ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประเดิมใช้กฎหมายใหม่ด้วยการรื้อฟื้นคดีที่มีนายทักษิณเป็นจำเลยที่ถูกศาลสั่งพับเก็บไว้ขึ้นมาปัดฝุ่นในเบื้องต้น 2 คดี โดยคดีดังกล่าว ป.ป.ช.รับหน้าที่ดำเนินการต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ที่หมดวาระลง

คดีแรกเป็นความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่ถูกต้อง กรณีเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้แก่รัฐบาลเมียนมาวงเงิน 4 พันล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน และขยายระยะเวลาปลอดหนี้จาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวมาซื้ออุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมจาก บมจ.ชินแซทเทลไลท์ (SATTEL) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายทักษิณ พร้อมทั้งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบไว้ชั่วคราว เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้เดินทางมาศาลในการพิจารณาคดีนัดแรกเมื่อวันที่ 16 ก.ย.51

ส่วนอีกคดีเป็นเรื่องที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย.51 ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งให้ออกหมายจับนายทักษิณ พร้อมทั้งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบไว้ชั่วคราว เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้เดินทางมาศาลในการพิจารณาคดีนัดแรกเช่นกัน แต่จำเลยคนอื่นๆ นั้นศาลฎีกาฯ ได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปจนกระทั่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.52 ให้จำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ปี ปรับ 20,000 บาท, ให้จำคุกนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ปี ปรับ 10,000 บาท และให้จำคุกนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยคนอื่นที่เหลืออีก 43 คนให้ยกฟ้อง

ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดนั้นเตรียมรื้อฟื้น 2 คดีที่ถูกศาลสั่งให้พับไปเช่นกัน คือ คดีทุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มกฤษดามหานครที่สร้างความเสียหายให้รัฐราว 1 หมื่นล้านบาท และคดีการแปลงสัญญาค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมมาเป็นภาษีสรรพสามิตที่เอื้อประโยชน์ให้กับ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ซึ่งทำให้รัฐเสียหายราว 6.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งออกหมายจับนายทักษิณ พร้อมทั้งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบไว้ชั่วคราว คือ คดีจงใจยื่นแสดงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเท็จ ซึ่งคาดว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะรื้อฟื้นคดีเช่นกัน

หนทางบนถนนสายการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คงต้องรอลุ้นกันยาวๆ ไปว่าเมื่อทุกคดีความถึงที่สุดแล้วจะมีบทลงโทษอะไรเพิ่มเติมจากคำพิพากษาเดิมที่ให้จำคุกไว้ 2 ปีอีกหรือไม่ ความหวังของกลุ่มผู้สนับสนุนที่จะเห็นอดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาโลดแล่นบนเวทีการเมืองดูจะเลือนลางออกไปทุกที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ