(เพิ่มเติม) นายกฯ เตรียมประชุมครม.สัญจรที่จ.พิษณุโลก-จ.สุโขทัย 25-26 ธ.ค.นี้ เปิดรับฟังข้อมูลแก่งเสือเต้น

ข่าวการเมือง Tuesday December 12, 2017 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในเดือนธันวาคม จะมีขึ้นในวันที่ 25-26 ธ.ค.นี้ จะเป็นการลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก แต่จะไปประชุมที่ จ.สุโขทัยด้วย โดยจะมีตัวแทนประชาชน กลุ่มการเมือง จะมายื่นเรื่องเกี่ยวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีรับฟังข้อมูลทุกภาคส่วน เพราะการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนจะได้ช่วยกัน

"เพราะถ้าไอ้โน่นก็สร้างไม่ได้ ไอ้นี่ก็สร้างไม่ได้ มันก็ทำได้เต็มที่เหมือนที่นครศรีธรรมราชคือลอกทางระบายน้ำเดิมที่มีอยู่ให้ลึกขึ้น ขุดเส้นทางระบายน้ำสู่ทะเลใหม่ ซึ่งก็ทำได้แค่นี้ แต่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะสร้าง แต่นายกฯอยากให้สังคมเปิดใจรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนว่าถ้าไม่เอาแบบนี้ ไม่เอาแบบโน้น แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน เพราะใน 1 ปีเราจะต้องเสียงบประมาณสำหรับการดูแลเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาอุทกภัยหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่แทนที่จะได้เอาไปพัฒนา เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาแบบยั่งยืนมันต้องมีวิธีการที่เป็นจุดลงตัว ซึ่งจุดลงตัวจะเกิดขึ้นได้ทุกฝ่ายต้องรับฟังเหตุผลคุยข้อมูลซึ่งกันและกัน" โฆษกฯ ระบุ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการเตรียมลงพื้นที่ครม.สัญจร ที่จ.สุโขทัย ระหว่างวันที่ 25-26 ธ.ค.นี้ว่า ไม่ทราบรายละเอียดข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.สุโขทัย ที่ขอจัดสรรงบประมาณ 5,000 ล้านบาทในการพัฒนาพื้นที่ เพราะไม่ได้ประสานมายังตนเอง แต่โดยปกติจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดที่มีทุกภาคส่วนเข้าร่วม ซึ่งจะมีการเสนอโครงการมายังตนเอง หากโครงการใดเป็นแผนงานสอดคล้องกับรัฐบาลก็ดำเนินการไป แต่หากเป็นโครงการใหม่ ก็ต้องมีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น

ส่วนการขอฟื้นโครงการก่อสร้างแก่งเสือเต้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ที่ผ่านมาทุกคนทราบปัญหาดีว่า ติดขัดเรื่องปัญหาพื้นที่ป่าและปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ได้เกิดการต่อต้านแต่ก็อยากทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า บางโครงการมีความจำเป็นมากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือ มีความจำเป็นที่จะต้องมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อลดปริมาณน้ำจากภาคเหนือ ลงมายังภาคกลาง ส่วนจะเป็นโครงการใด ก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งประชาชนจะต้องมีส่วนรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ