สนช.ไฟเขียวกฎหมายคืนสิทธิผู้ประกันตนที่ขาดส่งเงินสมทบกว่าล้านคนได้กลับเข้าระบบ

ข่าวการเมือง Thursday February 15, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกลับเป็นผู้ประกันตน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว หลังพิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระ 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 193 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง

ทั้งนี้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายนี้มีทั้งสิ้น 7 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเนื่องจากมีการขาดส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน หรือส่งเงินไม่ครบจำนวนเป็นเวลา 9 เดือน ในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งทำให้ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน และไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ หากมีความประสงค์ที่จะกลับมาเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 โดยผู้ที่ประสงค์จะกลับเป็นผู้ประกันตนจะต้องยื่นคำขอผ่านสำนักงานประกันสังคมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับสวัสดิการทั่วถึง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินไว้ใช้ในยามชราภาพมากขึ้น

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สมาชิก สนช.ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ แถลงหลังที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบประกาศใช้กฎหมาย ว่า จากร่างกฎหมายนี้จะมีกลุ่มแรงงานผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 1 ล้านคนกลับเข้ามาสู่ระบบการประกันตนอีกครั้ง และย้ำว่าการกลับเข้ามาสู่ระบบผู้ประกันตน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลัง

น.ส.ธนพร ชัยเวช ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แจ้งให้ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ์ให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน หลังจากนั้นจะเป็นการแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบเป็นรายบุคคลด้วยหนังสือส่งไปยังตามที่อยู่ที่เคยแจ้งไว้ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบยื่นจากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมและดำเนินการยื่นต่อสำนักงานได้ภายในหนึ่งปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ และต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาทตามเดิมตั้งแต่เดือนแรกที่มีการยื่นขอ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์คุ้มครองเช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ

ทั้งนี้กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้ขยายเวลาในกฎหมายประกันสังคมปี 2533 มาตรา 39 เกี่ยวกับการสิ้นสภาพผู้ประกันตนเพราะขาดส่งเงินสมทบเพื่อเมื่อเกิดปัญหาอีกจะไม่ต้องแก้กฎหมายการกลับเป็นผู้ประกันตนอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ