ครม.เห็นชอบหลักการปรับโครงสร้าง สตช.ย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม

ข่าวการเมือง Tuesday July 3, 2007 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)10 ประเด็น พร้อมทั้งเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับภายใต้หลักการดังกล่าว โดยในที่สุดจะมีการโอนย้าย สตช.จากสำนักนายกรัฐมนตรีไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และโอนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหลักไปสังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ซึ่งมีพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน กำหนดหลักการปรับปรุงโครงสร้างของสตช. ได้แก่ การกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานระดับรอง คือ ภูธร นครบาล ในระดับกองบัญชาการ, พร้อมกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม, สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานของตำรวจ, การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช้ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่นรับไปดำเนินการ
พร้อมทั้ง ปรับปรุงพัฒนาระบบงานสืบสวนสอบสวน, ปรับปรุงการปฎิบัติงานของสถานีตำรวจ, พัฒนากระบวนการสรรหา การผลิตและการพัฒนาบุคลากรตำรวจ, ปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ, ส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน และจัดตั้งหน่วยงานปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นรูปแบบพิเศษ
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีสาระเพื่อกระจายอำนาจไปสู่ระดับภูมิภาค นครบาล และระดับสำนักงานตำรวจ และ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง และไม่อยู่ภายใต้สตช.
"หากพ.ร.บ. 2 ฉบับนี้สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ก็จะทำให้การปรับโครงสร้างของตำรวจสำเร็จไปได้กว่า 50% ส่วนที่เหลือจะออกเป็นกฎหมาย ระเบียบ หรือ พระราชกฤษฎีกาทยอยตามมา ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาปรับโครงสร้างตำรวจจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในต.ค.นี้" นายชาญชัย กล่าว
สำหรับขั้นตอนต่อไปก็จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องก่อน หลังจากนั้น จึงจะส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป แต่จะออกมาบังคับใช้ทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ขึ้นกับการพิจารณาของสนช.
นายชาญชัย กล่าวว่า ในที่สุดแล้วเค้าโครงที่วางไว้ สตช.จะโอนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ส่วนตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ ก็จะโอนขึ้นตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะโอนไปขึ้นกับหน่วยงานใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ
สำหรับตำรวจภูธรในแต่ละจังหวัดนั้นก็จะขึ้นอยู่แต่ละสำนักงานตำรวจภูธรภาค ซึ่งแต่ละภาคะมีคณะกรรมการระดับภาคเพื่อบริหารอีกชั้นหนึ่งด้วย แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ส่วนในกทม.ก็จะขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)
นอกจากนั้น ภายใต้หลักการปรับโครงสร้างสตช.จะมีการยกร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมหลักนิติธรรม อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ