ลูกพรรค พปช.เชียร์ทำประชามติแก้ รธน.ชี้เป็นทางออกยุติปัญหาบ้านเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday June 11, 2008 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะคณะกรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชน(พปช.) ยืนยันว่า การทำประชามติเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองและเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ 
กรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปช.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติแล้ว เป็นเพราะเห็นว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"นายกฯไม่ได้ดูละเอียด และท่านก็ใจซื่อคิดว่าจะเป็นไปตามนั้น คิดไปว่าถ้าสภาฯ ตั้งกรรมธิการร่วมก็ไม่จำเป็นที่จะทำประชามติ แต่ที่จริงไม่ใช่เพราะพรรคประชาธิปัตย์เล่นเล่ห์ ผมยืนยันว่าการทำประชามติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะยุติความขัดแย้ง และเป็นทางออกของประเทศได้ เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการรับฟังสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เรื่องนี้เชื่อว่าฝ่ายกฎหมายคงได้เรียนนายกฯ ให้รับทราบแล้ว" นายสุทินกล่าว
หนังสือพิมพ์วันนี้อ้างแหล่งข่าวจากที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรีแจ้งกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในระหว่างรับประทานอาหารกลางวันว่าจะไม่ทำประชามติแล้ว โดยจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาฯ เพราะเกรงจะถูกมองว่ารัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายสุทิน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำลังเข้าใจผิดและคงไม่ได้ดูรายละเอียดในญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการใช้และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญว่ามีเล่ห์กลอะไรซ่อนอยู่บ้าง
พรรคพลังประชาชนได้มีโอกาสพิจารณาญัตติดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์แล้วพบว่าไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาว่ามีประเด็นใดควรที่จะแก้ไขบ้าง แต่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาตรวจสอบจับผิดว่าประเด็นใดมีผล หรือไม่มีผลทางกฎหมาย และมีประเด็นใดบ้างที่องค์กรและรัฐบาลละเลยในการออกกฎหมายลูก ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญในหลายมาตรายังไม่มีการนำมาใช้
ทั้งนี้ทราบมาว่าคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน)จะหารือกัน เพื่อขอให้พรรคประชาธิปัตย์แก้ไขญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้สอดคล้องกัน แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงดึงดันที่จะยื่นญัตตินี้ เชื่อได้ว่าญัตติดังกล่าวจะไม่ผ่านการพิจารณาในวาระแรกอย่างแน่นอน เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ