(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"เตรียมส่งรายงานสภาพัฒน์ให้ธปท.ประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2013 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะนำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/56 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 56 ที่ได้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ลงเหลือ 4.2-5.2% จากเดิม 4.5-5.5% ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังจะทำหนังสือถามไปยัง ธปท.ด้วยว่าที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ มองว่าแม้ขณะนี้เงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ โดยอยากให้จับตาดูภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ต่อไป เพื่อไม่ให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกลุกลามไปยังไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงการคลัง และหน่วยอื่น เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมไปรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนกลับไปให้ ธปท.ด้วย

"ท่านรองฯ กิตติรัตน์ จะตั้งคำถามถึงมาตรการที่ ธปท.ได้ดำเนินไปเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาท นั่นคือ ได้นำเงินบาทไปแทรกแซงสถานะการเงินบ้างหรือไม่ ประเด็นนี้ท่านกิตติรัตน์ให้ความสำคัญมาก เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เงินบาทเข้าไปแทรกแซงแล้ว อาจจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 40 ก็เป็นได้" รองโฆษกรัฐบาล กล่าว

อย่างไรก็ดี ธปท.เองได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เตรียมแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการในมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 มาตรการที่ ธปท.ได้เตรียมไว้สำหรับการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งจะมี 2 มาตรการที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้ว และส่งร่างแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่า แม้ ธปท.จะเสนอร่างกฎหมายเข้ามา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบังคับใช้กฎหมายในทันที เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมไว้สำหรับกรณีที่อาจจะต้องใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อประกาศใช้มาตรการ 1 ใน 4 ของธปท.

"ขณะนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และธปท.ได้เตรียมความพร้อมใช้มาตรการสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาท ซึ่งรองนายกฯ กิตติรัตน์ เห็นว่าท่าทีของธปท.ที่ออกมาในการเตรียมเครื่องมือให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดก็ตาม อย่างน้อยจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าได้ส่งสัญญาณไปถึงนักลงทุนต่างชาติที่หวังจะเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ในระยะสั้นขณะนี้ให้ได้ทราบว่าทุกฝ่ายในประเทศไทยมีท่าทีมีปฏิกิริยา และไม่ต้องการเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในบ้านเรา"ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระประชุม ครม.หารือถึงการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ตลอดจนรับฟังรายงานภาพรวมผลกระทบจากค่าเงินบาทของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้นำข้อมูลทั้งหมดรวบรวมส่งไปยัง ธปท.

"เรามีหน้าที่บอกความห่วงใย และผลกระทบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับทราบ" แหล่งข่าวกล่าวถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมครม.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยังระบุว่า เลขาธิการ สศช.ได้หยิบยกความคิดเห็นของประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB)ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นมาตรการที่เร็วที่สุดในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เพราะมีผลต่อเงินนอกที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น และแนะนำว่ารัฐบาลควรมีนโบายการเงินที่ยืดหยุ่นสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาทได้

ส่วนการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อเตรียมไว้สำหรับการดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 มาตรการที่ ธปท.ได้เตรียมไว้สำหรับการแก้ปัญหาค่าเงินบาทนั้น โดยรวมแล้วคณะรัฐมนตรีอยากให้แก้ไขเป็น พ.ร.บ.มากกว่า พ.ร.ก.เพื่อให้รัฐสภาสามารถตรวจสอบและต้องสามารถชี้แจงต่อสาธารชนได้

ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้เสนอ 4 มาตรการให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อเตรียมไว้ใช้ในการดูแลค่าเงินบาท ประกอบด้วย มาตรการกำหนดห้ามนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรของ ธปท.หรืออาจกำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตร เพื่อป้องกันการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าว ธปท. สามารถดำเนินการได้เองและเคยดำเนินการมาแล้วในอดีต

มาตรการกำหนดห้ามนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรระยะสั้นของทั้งรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่มีอายุ 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร, มาตรการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และได้ผลกำไร โดยมาตรการนี้จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายโดยกระทรวงการคลัง

และ มาตรการบังคับให้นักลงทุนต่างชาติป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินลงทุนที่นำเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนจากค่าเงินในเชิงบวก และไม่ต้องรับความเสี่ยงในเชิงลบ โดย ธปท.ยอมรับว่าเป็นแนวทางที่ไม่เคยใช้ในประเทศใดในโลก

"ในส่วนของข้อที่ 3 ในเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมที่ต้องทำตามคำแนะนำของธปท. ซึ่งมีความกังวลว่าหาก ธปท.ไม่ได้ให้คำแนะนำแล้วกระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องใช้ อาจจะมีปัญหาการตีความล้ำหน้า และมีความเป็นไปได้หรือไม่ หากหน่วยงานอื่น เช่น สภาพัฒน์ฯ จะให้คำแนะนำ"แหล่งข่าว กล่าวถึงข้อห่วงใยของนายกิตติรัตน์

แหล่งข่าว กล่าวว่า นายกิตติรัตน์ได้แสดงความเห็นต่อตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ที่ขยายตัว 5.3% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าผิดหวัง โดยช่วงไตรมาสที่ 2 ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเงินบาทยังมีแนวโน้มที่ยังแข็งค่าอยู่ และแม้จะเริ่มอ่อนค่าลงบ้างแล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเทียบกับประเทศคู่ค้าแล้วยังถือว่าเงินบาทแข็งค่ากว่าอีกหลายประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ