(เพิ่มเติม) ก.เกษตรฯ คาดระดมเงินซื้อยางผ่าน AFET สร้างความเชื่อมั่น-ดันวอลุ่มเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 11, 2013 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้วยการระดมเงินจากภาครัฐและเอกชนรวม 7 แห่ง แห่งละ 30 ล้านบาท เข้ารับซื้อยางจากเกษตรกรโดยใช้กลไกการซื้อขายของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างราคาอ้างอิงยางพาราว่า ในวัน 13 มิ.ย.นี้ จะนัดเจรจากับสมาคมยางพารา และจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับทั้ง 7 องค์กร เช่น สมาคมยางพารา, องค์การสวนยาง(อสย.), บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด(IRCo ) บมจ.ไทยฮั้วยางพารา, บมจ.ศรีตรังแอโกรฯ (STA) และวงษ์บัณฑิต เซาท์แลนด์
"ที่จะคุยกับสมาคมยางวันที่ 13 มิ.ย.นี้ จะคุยกันหมด เพื่อจะหารือข้อสรุปว่าเงินที่เราจะระดมคนละ 30 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อยางจากเกษตรกรโดยใช้กลไกของ AFET จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะข้อดีคือเพื่อสภาพคล่องให้ตลาด ทำให้ราคายามีความเคลื่อนไหว ไม่ต้องกังวลเรื่องที่เก็บสต็อกยาง เพราะเป็นการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ซึ่งถ้าที่ประชุมเห็นด้วยก็จะคุยกันต่อว่าเงิน 210 ล้านบาทที่ได้จากการระดมทุนใครจะดูแล จะต่างคนต่างซื้อหรือจะรวมกันเป็นหน่วยงานเดียวแล้วเข้าซื้อ หากที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบก็จะดำเนินการทันที"นายยุทธพงศ์ กล่าว

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ AFET ได้หารือแนวทางสนับสนุนต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้ายางพาราของ AFET โดยได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) เข้าร่วมประชุมด้วย และที่ประชุมฯ สรุปความเห็นว่า การเข้ามาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ส่งออกรายใหญ่ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา หากกำหนดวงเงินวางประกันและสำรองการเผื่อการขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นรายละ 30 ล้านบาท รวมกันแล้วจะก่อให้เกิดปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอีกโดยเฉลี่ยประมาณ 300-400 สัญญา/วัน หรือคิดเป็น 1 เท่าตัวจากปริมาณการซื้อขายในปัจจุบันที่ระดับ 300 สัญญา/วัน ถือเป็นปริมาณที่มากพอที่จะก่อให้เกิดผลทางบวกทางจิตวิทยาและสร้างความเชื่อมั่นในสภาพคล่องของตลาด AFET และจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องกับสินค้าและนักลงทุนเข้ามาซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายและเป็นแหล่งอ้างอิงราคายางพาราที่สำคัญของโลก

นอกจากนี้ AFET ยังมี ก.ส.ล.เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลคอยตรวจสอบ มีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการซื้อขายให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่จะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.การซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ.2542

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะที่ดูแลเกี่ยวข้องกับโครงการยกระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพาราพืชเศรษฐกิจสำคัญ ยืนยันว่า ไม่กังวลว่าโครงการยางจะประสบปัญหาเหมือนโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางใช้เงินทำโครงการไม่มาก โดยนับตั้งแต่ได้รับเงินอนุมัติจากรัฐบาลจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ใช้ไปเพียง 22,000 ล้านบาท และทุกโครงการที่ดำเนินการสามารถตรวจสอบได้ หรือหากโครงการใดไม่มีเอกสารรายละเอียดอย่างชัดเจน หรือผิดเงื่อนไขของโครงการก็จะไม่ได้รับการอนุมัติแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ