สศค.มองตลาดเงินตลาดทุนโลกปีหน้าผันผวน หลังนโยบายการเงินตปท.สวนทางกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 8, 2014 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ในปีหน้าตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีความผันผวนอย่างมาก อันเนื่องมาจากนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นไปในคนละทิศคนละทางกัน เช่น สหรัฐฯ ที่ปีหน้าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ญี่ปุ่นและยูโรโซน อาจจะมีการทำ QE เพิ่มเติม เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษกิจยังไม่ชัดเจน

แต่สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเติมในปีหน้าและค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ เศรษฐกิจของรัสเซียที่อาจเป็นตัวจุดประกายให้ตลาดทั่วโลกต้องช็อคอีกครั้ง เนื่องจากปีหน้ารัสเซียมีหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรัสเซียยังโดนมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกต้องผันผวนอีกครั้ง

ทั้งนี้การที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP ของไทยเติบโตได้เพียงปีละ 1-2% ถือว่าไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ถึงปีละ 4-5% แต่จากการที่เศรษฐกิจไทยในระยะ 2 ปีนี้เติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพที่แท้จริงนั้นเป็นเพราะเครื่องยนต์หลักสำคัญ 2 ตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดสะดุด นั่นคือ ภาคการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังติดลบ

โดยในภาคการส่งออกซึ่งทำรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของ GDP นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกในช่วงหลังยังเติบโตได้ไม่ดีนัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนถูกดึงจากโครงการรถยนต์คันแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ลดต่ำลง จึงส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคภาคเอกชนไม่เติบโตเท่าที่ควร

"ปัญหาเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่โครงสร้างที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออก ส่วนหนึ่งที่ GDP ปีนี้อาจโตได้แค่ 1% เพราะส่งออกแย่ ล่าสุดส่งออก 10 เดือนก็ยังติดลบ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็โดนดึงไปจากโครงการรถคันแรกเมื่อ 2 ปีก่อน และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลง" นายเอกนิติ กล่าว

พร้อมมองว่า การออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอาจจะช่วยได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่ภาครัฐจะสามารถช่วยได้ในช่วงระยะเวลาการทำงานอันจำกัดในช่วงประมาณ 1 ปีนั่นคือการช่วยสร้างความมั่นใจให้เกิดกับประชาชน รวมทั้งนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เช่น การเปิดประมูลโครงการลงทุนก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การมีนโยบายที่แก้ปัญหาเฉพาะจุดและอย่างยั่งยืน เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคเกษตร และหนี้นอกระบบ ตลอดจนการร่วมวางรากฐานที่ดีทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ