"ประจิน"เผยรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเซ็นแล้วตั้งคณะทำงาน คาดเริ่มสร้างกลางปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 30, 2015 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 ตนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านระบบราง (MOC) ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ่วม 2 ฝ่าย ในระดับรัฐมนตรีของ 2 ประเทศ ซึ่งภายใต้คณะกรรมการ จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ 2. คณะทำงานเส้นทาง กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ,กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และ 3. คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน

โดยภายใน 1 เดือนหลังลงนามใน MOC การจัดทำแผนการทำงาน (Timeline) รูปแบบการทำงาน รูปแบบความร่วมมือ โดยตั้งเป้าหมายลงพื้นที่ เพื่อสำรวจออกแบบได้ในปลายเดือนก.ค. นี้ โดยแผนงานและรายละเอียดในทุกๆ ด้านจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ และตั้งเป้าเริ่มการก่อสร้างประมาณกลางปี 2559

“หลังจากนี้ภายใน 2 สัปดาห์ทาง บริษัท JR East ญี่ปุ่น จะส่งทีมงานเข้ามาร่วมประชุมวางแผนในเรื่องกรอบความร่วมมือ กรอบเวลาการทำงานกันให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน ซึ่งรูปแบบความร่วมมือและการก่อสร้าง จะเป็นรูปแบบเดียวกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ทางญี่ปุ่นอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมส่วนใหญ่ เพราะใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง"รมว.คมนาคมกล่าว

โดยรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่นั้นจะใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นของญี่ปุ่น โดยจะกำหนดความเร็วกันต่อไป ส่วนเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ,กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง มี 2 แนว คือ 1.ปรับปรุงพัฒนาทางเดิมที่มีขนาดราง 1 เมตร เพื่อให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ โดยพัฒนาทั้งราง สถานี ระบบอาณัติสัญญาณ เป็นต้น หรือ 2. หากในอนาคตต้องการเชื่อมต่อเส้นทางกับทางพม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม จะต้องหารือกัน 4 ประเทศ ว่าจะต่อเชื่อมกันด้วยรางขนาด 1 เมตรหรือ 1.435 เมตร โดยเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก และผู้โดยสารเป็นรอง ซึ่งจะเลือกแนวทางใด ขึ้นกับการพิจารณาข้อดี ข้อเสีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ