ราชกิจจาฯตรา พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ เปิดทางลูกจ้างออมเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 11, 2015 18:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแก้ไขให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบได้ อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้น

และ ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้ รมว.คลังมีอำนาจออกประกาศให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนได้ พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ปรับปรุงวิธีการบันทึกรายได้ของกองทุนประเภทกองทุนหลายนายจ้าง และแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินจากกองทุนแก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานให้สามารถขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวดได้

รวมทั้งเพิ่มกรณีการโอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและแก้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของกองทุนและเพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพเมื่อชราภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 10 ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนซึ่งการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง"

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 10/1 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530

“มาตรา 10/1 ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าท้องที่หนึ่งท้องที่ใดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัยหรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดประเภทธุรกิจระยะเวลา หรือเงื่อนไขใด เพื่อให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ.2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 16 ในการลงทุนหรือหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายเดิมที่ลูกจ้างเคยลงทุนไว้ หากไม่มีนโยบายเดิม ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุน หากข้อบังคับของกองทุนไม่ได้กำหนดไว้ ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด"

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของ (1) ของมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2550

“รายได้ของกองทุนตามวรรคหนึ่ง (ก) (ข) (ง) และ (จ) อาจกำหนดในข้อบังคับของกองทุนให้บันทึกตามส่วนได้เสียของลูกจ้างหรือบันทึกเฉลี่ยตามจำนวนลูกจ้างของนายจ้างรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายก็ได้"

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 23 ภายใต้บังคับมาตรา 23/2 มาตรา 23/3 และมาตรา 23/4 เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนและตามที่กำหนดในมาตรา 23/1 โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ"

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 23/2 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ.2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 23/2 เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนด้วยเหตุเกษียณอายุหรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ หากลูกจ้างรายนั้นแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวด ให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินจากกองทุนตามเจตนาของลูกจ้าง โดยลูกจ้างรายนั้นยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ลูกจ้างรายนั้นและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมหรือเงินสมทบสำหรับลูกจ้างรายนั้นอีก ทั้งนี้ การรับเงินจากกองทุนเป็นงวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนประกาศกำหนด"

มาตรา 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 23/4 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530

“มาตรา 23/4 ในกรณีที่นายจ้างถอนตัวจากกองทุนหลายนายจ้างและยังมิได้จัดให้มีกองทุนใหม่หรือลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือกองทุนเลิก หากลูกจ้างได้แสดงเจตนาให้ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ชำระบัญชีโอนเงินทั้งหมดที่ตนมีสิทธิได้รับจากกองทุนหรือเงินที่เหลือจากการขอรับเงินเป็นงวดตามมาตรา 23/2 หรือขอให้โอนเงินที่คงไว้ในกองทุนตามมาตรา 23/3 ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพ ให้ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ชำระบัญชีดำเนินการตามที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ทั้งนี้ นายทะเบียนอาจประกาศกำหนดวิธีการและเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้"

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 35 ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 12 ทวิหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 23 มาตรา 23/1 มาตรา 23/2 หรือมาตรา 23/4 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ