สศก.คาดได้ข้อสรุปชดเชยส่วนต่างแก้ปัญหาราคายางภายในเดือนนี้ ก่อนเสนอกนย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 4, 2015 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังนำองค์กรชาวสวนยางเข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร สภาการยางแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยยาง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังประสบปัญหาราคายางตกต่ำและขาดทุนอย่างหนัก

โดยที่ประชุมฯได้เห็นชอบมาตรการเร่งด่วน คือ มาตรการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางเกี่ยวกับราคาตกต่ำขณะนี้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ดำเนินการให้การยางแห่งประเทศไทยลงไปดูเรื่องการชดเชยส่วนต่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาเพื่อหารายละเอียดเกี่ยวกับส่วนต่าง คาดว่าคณะกรรมการ 3 ฝ่ายจะสามารถนำเสนอสู่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้ภายในเดือนนี้หรือปลายเดือนนี้ หรืออย่างช้าคือสิ้นเดือนหน้า

"คาดว่าภายในเดือนนี้น่าจะทราบรายละเอียดต่างๆว่าในส่วนที่เราเสนอไปรัฐบาลจะให้ความเห็นชอบออกมาเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ต่อไร่ต่อราย เพราะขณะนี้มาตรการนี้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาทของท่านรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ที่ต้องการใส่เม็ดเงินลงไปในพื้นที่เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย...ถ้าชดเชยส่วนต่างจะมีเกษตรกรชาวสวนยางอย่างน้อย 6 ล้านครอบครัวจะได้รับอานิสงส์จากส่วนนี้ สมมติว่าชดเชย 25 ไร่ต่อ 1 ราย ไร่ละ 1,000 บาทเกษตรกรจะได้เม็ดเงินไป 25,000 บาทต่อรายตรงนี้ชาวสวนยางสามารถนำไปเป็นทุนหมุนเวียน ใช้จ่ายเป็นวงจรอีกมหาศาล"นายบุญส่ง กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบอีกหลายประเด็น ประกอบด้วย 1. ให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ จากปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 64.49 บาท/กก. ได้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงมา

"ประเด็นนี้ต้องใช้หลายมิติ เช่น พันธุ์ยาง ปุ๋ย การจัดการ เฉพาะพันธุ์ยางที่เราใช้อยู่ทั้งประเทศอยู่ที่ 250 กก./ไร่/ปี ค่าเฉลี่ย 64.49 บาท ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ยางพันธุ์ดีเพิ่มขึ้นสูงถึง 500 กก./ไร่/ปี ต้นทุนจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 30 บาท/กก.เราต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะพันธุ์ยางชนิดนี้มีอยู่แล้วในภาคใต้ ภาคอีสาน"

2. มีการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงด้วยการทำสวนยางผสมผสาน โดยไม่ยึดปลูกเพียงการทำสวนยางเพียงอย่างเดียวซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากในขณะนี้ 3. การดูแลราคายางทั้งระบบ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับเรื่องการตลาดด้วยว่าทำอย่างไรจะให้ราคามีความมั่นคงยั่งยืน และให้ปลดปล่อยจากราคาที่ถูกกำหนดโดยตลาดล่วงหน้า ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าจะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

4. การแปรรูปอุตสาหกรรมยาง การเพิ่มมูลค่า การใช้ยางในประเทศให้มาก ซึ่งตรงนี้ก็จะวางเป็นพื้นฐานเพื่อจะนำเสนอรัฐบาลต่อไป 5. ขอให้รัฐบาลวางนโยบายเชิงบังคับให้หน่วยงานราชการใช้ยางในประเทศเพื่อลดซัพพลายในประเทศลงจากซัพพลายที่มีอยู่ทั้งประเทศ 4 ล้านตันเศษ เช่นการใช้ยางทำถนนทั้งหมดของประเทศ 6 หมื่นกม.ต่อปี คิดเป็นปริมาณยางที่ต้องใช้ทำถนนราว 2-3 แสนตัน

6. ให้มีการทบทวนมาตรการเดิม 16 มาตรการที่รัฐบาลเคยนำมาใช้ว่าตรงไหนยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขาดตกบกพร่องหรือมีปัญหาตรงไหนและนำเสนอ 7.เรื่องให้สถาบันเกษตรกรได้ใช้โรงงานขององค์การสวนยาง (อสย.) ที่ภาคอีสาน 3 โรงงาน และหาดใหญ่ 1 โรงซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีการเดินเครื่อง สร้างทิ้งไว้เฉยๆเปล่าประโยชน์เพื่อจะยกระดับการแปรรูปยางของเกษตรกรไทย

"มาตรการลดซัพพลาย รวมถึงมาตรการอื่นๆ จะช่วยทำให้ซัพพลายหายไปอีกมาก เพราะตอนนี้ราคายางตก ชาวสวนหยุดกรีด คนกรีดก็ไม่ค่อยมีเพราะราคาไม่ดี ทั้งหมดนี้ถ้าทำสำเร็จราคายางอาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างแต่ก็ว่าก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศแถบ CLMV ปลูกยางกันมากพื้นที่รวมกันใกล้เคียงกับผลผลิตของประเทศไทย หรือคิดเป็น 1 เท่าตัวของผลผลิตยางประเทศไทย ที่อยู่ที่ 4 ล้านตัน ซึ่งมาตรการที่ว่าอย่างน้อยก็ลดซัพพลายลงไปได้บ้าง" นายบุญส่ง กล่าว

ส่วนเรื่องการส่งออกขณะนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการโดยตรงและตลาดล่วงหน้า ไม่สามารถไปกำกับอะไรได้เลย แต่ในที่ประชุมฯก็เห็นว่าจะมีการหารือในส่วนนี้ให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้โดยใช้กลไกของรัฐ คือ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบในการควบคุม เพื่อควบคุม กำกับ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีความสมดุล

นายบุญส่ง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังต้องมีการหารือเพื่อตกผลึกมาตรการเหล่านี้อีกครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการนัดหมายว่าจะประชุมหารืออีกครั้งเมื่อไหร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ