(เพิ่มเติม) "กอบกาญจน์"ผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามกระแสโลก ชี้มีศักยภาพสร้างรายได้-เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2016 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงการพัฒนาสู่ระดับชุมชนว่า รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) เป็นการเดินทางมาเพื่อการรักษาพยาบาลเป็นหลัก และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นการใช้บริการเชิงสุขภาพเพื่อฟื้นฟู และบำรุงสุขภาพ

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ประเทศไทยมีผู้มาใช้บริการทางการแพทย์มากที่สุดในโลก ที่ผ่านมามีผู้เดินทางเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ในต่างประเทศประมาณปีละ 7-8 ล้านคน ในจำนวนนี้มาใช้ในประเทศไทย 1.2 ล้านคน ซึ่งสูงที่สุดในโลก และก่อให้เกิดเม็ดเงินต่อระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาคเอเชีย บริการที่ได้มาตรฐาน การเอาใจใส่ดูแล เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ได้รับการรับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายในการให้บริการต่ำใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย

ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 1,604 พันล้านบาท ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 285 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส

"นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง มีการศึกษาดี มีระยะเวลาพักนาน มีการใช้จ่ายสูง ทั้งกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และนักท่องเที่ยวภายในประเทศ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถเชื่อมโยงเป็นกิจกรรมร่วมในการส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ได้" นางกอบกาญจน์ กล่าว

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีไทย คาดว่าจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะสอดคล้องกับ Trend การท่องเที่ยวปัจจุบันที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวชุมชน บริการเชิงสุขภาพของไทยมีขนาดทางตลาดเล็กกว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ค่อนข้างมาก ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ในประเทศไทยโตกว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถึง 4 เท่า

ขณะที่ในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกที่พบว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโตกว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ประมาณ 7.3 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบกอบการด้านการแพทย์ของไทยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มีกำลังเงินทุนและมาตรฐานการบริการที่สูงจึงมีศักยภาพในการสางรายได้ที่ดี ขณะที่ผู้ประกอบการเชิงสุขภาพของไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการ

จากผลจากการวิเคราะห์ SWOT Analysis ของท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย พบว่า จุดแข็ง นวดแผนไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ Thainess มัดใจคนทั้งโลก มีความหลากหลายจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยผ่อนคลายและรักษาโรค โอกาส ตลาดท่องเที่ยวโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสความสนใจในสุขภาพ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การได้รับการส่งเสริมโดยนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่จุดอ่อน คือ สถานประกอบการส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีข้อจำกัดด้านมาตรฐาน มีบริการแอบแฝง ขาดการสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน มีการแข่งขันด้านราคาสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการ อุปสรรค มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนาจำนวนมาก การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติขาดเอกภาพ การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

รมว.ท่องเที่ยว กล่าวต่อว่า บทบาทภาครัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับต่างๆ เช่น ระดับประเทศ มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ปี 2559 – 2568 สำหรับระดับกระทรวง ในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย ปี 2558 – 2560 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในการเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของภูมิภาค

สำหรับประเด็นที่ควรให้ความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างครบวงจรทั้งด้านตลาดและการให้บริการ การพัฒนามาตรฐานการให้บริการ เพื่อยกระดับมาตรฐาน การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านราคาและมาตรฐาน เพื่อลดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการจนมีผลต่อการรักษามาตรฐานการให้บริการและราคาการบริการ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในอาชีพการนวด เพื่อจูงใจให้เข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น ลดการขาดแคลนบุคลากร การพัฒนาบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชุมชน ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัด และการเน้นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม การฝึกและประเมินความต้องการแรงงาน เพื่อให้การบริการได้มาตรฐาน รองรับการขยายตัวของลูกค้าที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health City) โดยมีการบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร อาจพัฒนาร่วมกับการท่องเที่ยวในมิติอื่น เช่น Long stay การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น การส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น การสร้างศูนย์สมุนไพรเพื่อการท่องเที่ยว (สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยอง) การสร้างศูนย์บริการเชิงสุขภาพเพื่อการท่องเที่ยว สร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับจังหวัดและภูมิภาค ที่ผนวกกับกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการเชิงสุขภาพ เช่น จัดทำเว็บไซด์กลางเพื่อบริการด้านสุขภาพของประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น

รมว.ท่องเที่ยว กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นด้านการท่องเที่ยวที่ควรคำนึงถึงในไตรมาสที่ 2/59 แบ่งออกเป็น ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น กระแสการท่องเที่ยว "12 เมืองต้องห้าม...พลาด+พลัส" การเพิ่มวันหยุดพิเศษต่อเนื่อง สมดุลการพัฒนาและการอนุรักษ์ Tourism Gateway กลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Cluster) Amazing Thai Taste ผลกระทบจากภัยแล้งและความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น

ขณะที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เช่น นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอการเติบโต น้ำมันโลกขาลง กระตุ้นการเดินทางระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศของโลก นักท่องเที่ยวยุโรปเติบโตต่อเนื่อง เป็นต้น

ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุณทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเสริมว่า เรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ค่อนข้างน่าแปลกใจมากที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก รายรับจากการท่องเที่ยวแบบ Wellness จะมากกว่ารายรับจาก Medical แต่สำหรับเมืองไทยรายรับจาก Medical มากกว่าธุรกิจ Wellness ถึง 4 เท่า

"เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าไปดูว่าธุรกิจ Wellness ของเรามีปัญหาอะไรหรือเปล่า จะต้องยกระดับมาตรฐานธุรกิจ Wellness ของเราเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ทั้ง สปา โฮมสเตย์ ลองสเตย์ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มหรือไม่ เพื่อให้รายรับรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงขึ้น"

นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่าในส่วนของตัวเลขภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ประกาศไตรมาสแรกขยายตัว 3.2% ปัจจัยหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวถึง 20.1% ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 16.5% ของจีดีพี

"แปลว่าเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่การจะพึ่งพาการท่องเที่ยวตลอดไปอาจจะไม่สมควร เพราะมันก็มีความเสี่ยงและขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกค่อนข้างมาก แต่ผมเชื่อว่าที่จีดีพีเราเติบโต 3.2% ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายๆปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 มาจากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยว"

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไตรมาสที่ 2 มีการชะลอตัวลงอย่างมาก โดยถ้าดูจากการประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท ลดลงจากเมื่อเที่ยวกับไตรมาส 1 ที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 4.64 แสนล้านบาท จากปัจจัยเชิงฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก แต่หากสามารถกระจายให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศได้ตลอดทั้งปีก็จะทำให้ความผันผวนในเชิงเศรษฐกิจอาจจะน้อยลง

"การกระจายตัวของนักท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ 7 เมืองหลักของประเทศ คือ กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา สร้างรายได้ 1.33 แสนล้านบาท แต่การโปรโมท 12 เมืองต้องห้าม..พลาด + พลัส (24 เมือง) พบว่าการกระจายตัวดีขึ้น แต่ยังไม่เต็มร้อย ซึ่งจะใช้การเชื่อมโยงแอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีออนไลน์ในพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงนโยบายเพิ่มขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ