ครม.เห็นชอบปรับเงื่อนไขการคำนวณค่า K สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2016 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ประเภทงานก่อสร้าง สูตรและวิธีการคำนวณที่ใช้กับสัญญาแบบปรับได้ (ค่า K ) ของการประกวดราคานานาชาติ และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค.32 กรณีการจ้างเหมาก่อสร้างแบบ Design and Build ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

โดยมีสาระสำคัญ คือ การใช้ดัชนีราคาฐานคำนวณค่า K ให้ใช้ 28 วันก่อนวันยื่นซองประกวดราคา (แทนการ คำนวณใช้ดัชนีเดือนเปิดซองประกวดราคา) เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินค่าจ้างสูงมีความซับซ้อนต้องใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างจากประสบการณ์ของผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างต้องใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลในการเสนอราคา ซึ่งเป็นการรับซองประกวดราคา 3 ซอง คือ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองราคา ซึ่งกว่าจะเปิดซองราคาต้องใช้ระยะเวลามาก และมิได้ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะทั้ง 2 ฝายรับความเสี่ยงและความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากัน ทั้งนี้กรณีงานเพิ่มเติมหากมีการตกลงราคาใหม่โดยราคาต่อหน่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้ใช้วันที่ตกลงราคาใหม่ แทนการใช้ 28 วัน ก่อนวันยื่นซองประกวดราคา

ขณะที่การขอเงินชดเชยค่างานก่อสร้างเพิ่มให้นับ 90 วัน ตั้งแต่วันที่ผู้ว่าจ้างออกหนังสือรับรองผลงานแล้วเสร็จ (Certificate of Completion) ของงานงวดสุดท้าย (แทนการนับ 90 วัน ตั้งแต่วันที่ส่งมอบงานงวดสุดท้าย) เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ การส่งมอบงานงวดสุดท้ายจะมีงานบางส่วนเหลือเล็กน้อย ซึ่งผู้รับจ้างต้องดำเนินการให้เรียบร้อยจึงจะตรวจรับและออกหนังสือรับรอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจรับงาน และจะเป็นประโยชน์กับทางราชการเพื่อให้มีการตรวจสอบงานได้สมบูรณ์ครบถ้วนโดยไม่ต้องรีบจ่ายเงินค่างานก่อสร้าง

ส่วนการจัดจ้างงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design and Build) เช่น งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน งานระบบรางรถไฟฟ้า เป็นต้น และการจ้างเหมาก่อสร้างแบบ Tuenkey เป็นงานจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จมีรูปแบบและขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยผู้รับจ้างรายเดียว ผู้รับจ้างเสนอราคาเป็นราคาเหมารวมไม่มีรายละเอียดบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (Bill of Quantities : B.O.Q.) มีการบวกราคาเผื่อความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งเผื่อการผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานที่เกิดขึ้นในอนาคตไว้แล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการแนวคิดของการใช้สัญญาแบบปรับราคาได้ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดความเสี่ยงของผู้รับจ้างจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง และป้องกันมิให้ผู้รับจ้างบวกราคาเผื่อการเปลี่ยนแปลงวัสดุไว้ล่วงหน้า จึงไม่สมควรนำเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ประเภทงานก่อสร้าง สูตรและวิธีการคำนวณที่ใช้กับสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ตามนัยมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค.32 มาใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ