ก.พลังงาน คาดออกประกาศเชิญชวนประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ มี.ค.-มิ.ย.60 ให้สิทธิ ก.ย.60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2016 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่าพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฉบับแก้ไข จะลงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ได้ประมาณเดือนต.ค.59 ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแนวทางการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะสิ้นอายุทั้งสองแหล่ง ได้แก่ แหล่งบงกช และเอราวัณ เบื้องต้นคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนและรับคำขอการประมูลได้ในเดือนมี.ค.-มิ.ย.60 และคาดว่าจะให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ภายในเดือนก.ย.60

ทั้งนี้ การแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ได้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งจะทำให้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม มี 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสัมปทานปิโตรเลียม , ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ขณะที่พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการที่เพิ่มเติม

ปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับหลักการร่างแก้ไขพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับในวาระแรกแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ สนช. ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.-23 ส.ค.59 โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งได้ประชุมพิจารณาไปแล้ว 2 ครั้ง ทำให้คาดว่า พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ จะลงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาประมาณเดือนต.ค.59

สำหรับการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานที่จะสิ้นอายุนั้น กระทรวงพลังงานจะดำเนินการในขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่ การยกร่างกฎกระทรวงที่จำเป็น 6 ฉบับ และประกาศ 1 ฉบับของคณะกรรมการปิโตรเลียม ,กำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์การประมูล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.59 ,จัดเตรียมข้อมูล (Data Room) ,ประเมินสิ่งติดตั้ง มูลค่า ภาระค่ารื้อถอนสิ่งติดตั้ง (Decommissioning Cost) และออกประกาศเชิญชวนและรับคำขอในเดือนมี.ค.-มิ.ย.60 และคาดว่าจะให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ ภายในเดือนก.ย.60

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ระบบการบริหารจัดการ ระบบ Thailand I และ Thailand III มีสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐ และบริษัทผู้รับสัมปทาน ระบบ Thailand I อยู่ระหว่าง 54-59% บริษัท 41-46% ระบบ Thailand III อยู่ที่ รัฐ 71% บริษัท 29% และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) อยู่ที่ รัฐ 58% บริษัท 42%

"การเลือกใช้ระบบบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทย มีสัดส่วนรายได้ที่รัฐได้รับอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมของประเทศ สามารถดึงดูดให้เกิดการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยยืนยันว่ากระทรวงพลังงาน ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญมาโดยตลอด"นายอารีพงศ์ กล่าว

อนึ่ง สัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุในปี 65-66 ประกอบด้วย แปลงสำรวจหมายเลข B10,B11 ,B12 และ B13 ของกลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีแหล่งเอราวัณ เป็นแหล่งผลิตสำคัญ จะหมดอายุในปี 65 ขณะที่แปลงสำรวจหมายเลข B15 ,B16 และ B17 ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยมีแหล่งบงกช เป็นแหล่งผลิตสำคัญนั้น โดยแปลงสำรวจหมายเลข B15 จะหมดอายุในปี 65 ส่วน B16 และ B17 จะหมดอายุในปี 66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ