กพช.ผ่านแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับเขตศก.พิเศษ หนุนพลังงานหมุนเวียน,ขยาย MOU ซื้อไฟลาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2016 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (SEZ1) ใน 6 พื้นที่จังหวัดชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร, อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย, อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบไปด้วย แผนระบบส่ง แผนระบบจำหน่าย และแผนงานพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ SEZ1

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการลงทุนปรับปรุงและก่อสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงินรวมกว่า 7,350 ล้านบาท รวมทั้งการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแผนและรายละเอียดในการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

พร้อมกันนั้น ยังเห็นชอบการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ พร้อมเห็นชอบในหลักการร่างบันทึกความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว (MOU) โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเตรียมการลงนามใน MOU ดังกล่าว

ทั้งนี้ การขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ก่อนยกระดับสู่การเป็น Regional Grid ต่อไป

รวมถึง เห็นชอบกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือนเช่นเดียวกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ จากปัจจุบันที่มีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ครอบคลุมเพียงขยะชุมชนเท่านั้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังรับทราบรายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน มิ.ย.59 พบว่า ภาพรวมมีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว 7,234 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 9,223 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ที่กำหนดไว้ 16,778 เมกะวัตต์ ในปี 2579 โดยมีสถานภาพการรับซื้อ ดังนี้

โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (COD) แล้ว จำนวน 6,992 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 6,380 เมกะวัตต์ ,โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและอยู่ระหว่างรอ COD จำนวน 157 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 2,113 เมกะวัตต์ และโครงการที่มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 85 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 730 เมกะวัตต์

ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานความคืบหน้าการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขร่างกฎกระทรวง ในการกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรายละเอียดร่างประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตแบบก่อสร้าง และผู้ตรวจรับรองแบบอาคาร เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ดังกล่าวในอนาคต รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการและสร้างผลกำไรทางธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ