กรมเจ้าท่า คาด กม.รับผิดทางแพ่งจากมลพิษน้ำมันเกิดจากเรือมีผลบังคับใช้ มิ.ย.61

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 16, 2017 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมเจ้าท่า คาดว่าจะมีการประกาศร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. ... ในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 60 วัน และกฎหมายจะมีผลใช้บังคับ 1 ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กล่าวคือประมาณเดือน มิ.ย.61

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.60 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ และได้มีลงเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย

เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีวัตถุประสงค์ให้บุคคลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษน้ำมันที่เกิดจากเรือได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เพียงพอจากเจ้าของเรือ และจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน (Fund 1992) ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยทิ้งน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมัน หรือการประสบอุบัติภัยของเรือ

อีกทั้งยังเป็นการนำหลักการสำคัญของ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ.1992 (CLC 1992) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน (FUND 1992) ซึ่งเป็นอนุสัญญาสำคัญขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)มาบัญญัติไว้สำหรับใช้เป็นกฎหมายภายในซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาฯ ดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันอนุสัญญา CLC 1992 มีประเทศภาคี 134 ประเทศ และอนุสัญญา FUND 1992 มีประเทศภาคี 114 ประเทศ

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. ....

  • ให้เจ้าของเรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจากมลพิษ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นกรณีตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด โดยนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) มาใช้
  • เจ้าของเรือมีสิทธิที่จะจำกัดความรับผิดของตนได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
  • เรือไทยที่บรรทุกน้ำมันมากกว่า 2,000 ตันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองที่แสดงถึงการจัดหาประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงินอื่นใด ให้เพียงพอตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
  • เรือต่างประเทศที่แล่นเข้ามาในทะเลอาณาเขตประเทศไทย ต้องมีใบรับรองที่แสดงถึงการจัดหาประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงินอื่นใด ให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบใบรับรองดังกล่าว ซึ่งกรมเจ้าท่ามีอำนาจในการออกใบรับรองให้แก่เรือไทยหรือเรือต่างประเทศซึ่งมิได้จดทะเบียนในรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาได้
  • ผู้ที่ได้รับความเสียจากมลพิษที่เป็นเอกชน อาจมอบอำนาจให้พนักงานอัยการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากมลพิษแก่เจ้าของเรือได้

2. ร่างพระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. ....

  • บุคคลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษอาจใช้สิทธิเรียกร้องต่อกองทุนได้และให้กองทุนจ่ายค่าสินไหม ทดแทนจากมลพิษให้แก่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษ หากบุคคลนั้นไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เต็มจำนวน และเพียงพอตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งฯ
  • กองทุนสามารถจำกัดความรับผิดได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน
          - บริษัทน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันเกินกว่า 150,000 ตันในรอบปีปฏิทิน ต้องยื่นข้อมูลต่อกรมเจ้าท่าและ          มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบรายปีไปยังกองทุน ตามจำนวนและกำหนดเวลาที่กองทุนแจ้งไปยังบริษัทนั้น ๆ โดยตรง
  • กรมเจ้าท่าต้องประกาศรายชื่อน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้สอดคล้องกับที่กองทุนประกาศกำหนด
  • ผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษที่เป็นเอกชนอาจมอบอำนาจให้พนักงานอัยการเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากมลพิษต่อกองทุนได้

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการมีกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการบริหารความเสี่ยง เปรียบเสมือนกันซื้อประกันภัยทางสิ่งแวดล้อม ในส่วนผู้เสียหายจากมลพิษน้ำมันจะได้รับการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เพียงพอ

ด้านกิจการพาณิชยนาวี ด้วยกลไกเจ้าของเรือไม่ต้องตกเป็นผู้ล้มละลายหากถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในจำนวนที่สูงมาก สำหรับร่างพระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่เติมเต็มร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน อันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... ดังนั้น หากร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีผลใช้บังคับจะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งกรณีเกิดความเสียหายจากมลพิษน้ำมันที่ครอบคลุม ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับผู้ประกอบการภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมัน ผู้ประกอบการเจ้าของเรือ และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษน้ำมัน

และ ด้านภาพลักษณ์ของประเทศ การมีกฎหมายทั้งสองฉบับ ทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992 และอนุสัญญา FUND 1992 ได้อีก 2 อนุสัญญา อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ได้อีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ