นักวิชาการจุฬาฯ รุมสับรถไฟไทย-จีน ห่วงเสียเปรียบ มองเอื้อประโยชน์จีนมากเกินไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 22, 2017 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการคณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "รถไฟไทย-จีน:ใครได้ใครเสีย" ว่า หากพิจารณาในแง่เศรษฐศาตร์แล้วความคุ้มค่าทางการเงินจะใช้เวลากี่ปีจึงจะคืนทุน หากมีระยะทางเพียงเท่านี้คาดว่าไม่คุ้มค่าด้วยงบประมาณลงทุนสูงถึง 1.79 แสนล้านบาท จะต้องเก็บค่าโดยสารเท่าไรจึงจะคุ้ม และคงไม่มีเอกชนเสนอตัว แต่ต้องมองความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่ได้ปรากฎเป็นตัวเงิน

"ผลตอบแทนทางการเงิน 1% ต่อปีจะได้หรือเปล่า กังวลมาก ถ้าคิดแยกโครงการเดินทางกรุงเทพ-โคราช ทำแล้วเจ๊งกับเจ๊ง...พูดเพียงแค่ประเทศไทยได้ประโยชน์ไม่พอ พื้นที่ที่วิ่งไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไร" น.ส.นวลน้อย กล่าว

แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถใช้มาตรา 44 แต่มีเรื่องการทำสัญญาคุณธรรม ซึ่งจะช่วยควบคุมกระบวนการให้โปร่งใส และทางการควรเปิดเผยข้อมูลมากกว่านี้ถึงแผนงานที่จะเชื่อมต่อรถไฟเส้นนี้จะมีการเชื่อมจากนครราชสีมาไปหนองคายหรือไม่ รวมทั้งประเด็นใครได้ใครเสียจากการลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา โดยเฉพาะผู้ถูกเวนคืนที่ดิน แต่ก็มีบางกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ แล้วที่สุดในอนาคตโครงการนี้จะสร้างศักยภาพของไทยได้จริงหรือ

ด้านนายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา ที่เป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนนั้น มองภาพแล้วการพัฒนาเส้นทางนี้ไทยแทบจะไม่ได้ประโยชน์ แต่เส้นทางนี้กลับเป็นส่วนเสริมของรัฐบาลจีนที่มีนโยบาย One Belt One Road ที่เชื่อมเส้นทางของจีนเข้า สปป.ลาว และเมื่อเชื่อมไทยได้ก็สามารถเชื่อมเข้าอาเซียนได้ และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจีนได้เป็นอย่างดี

"เราอย่าจมอยู่แค่เส้นทาง ต้องดูประโยชน์ว่าใครได้กันแน่ ถ้าไม่คุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ก็ไม่จำเป็น" นายสมพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการ One Belt One Road มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของจีน โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นส่วนหนึ่งเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้จีนไม่มีแผนเชื่อมต่อกับไทย เพิ่งมาพูดถึงหลังเปลี่ยนผู้นำจีน แต่เห็นว่าการทำความร่วมมือกับจีนให้ระวังเสียเปรียบแม้จะมีสัญญา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ควรจะต้องระบุให้ชัดเจนและลงรายละเอียดไว้เพื่อไม่ให้เกิดการบิดพลิ้ว หากมีความชัดเจนจะได้ฟ้องประชาคมโลกได้

"กังวลเรื่องกฎหมาย ขอให้รัฐบาลและนักวิชาการรู้เท่าทันจีน รถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญของจีน เมื่อก่อนจะเชื่อมเฉพาะลาว ตอนนี้มาเชื่อมกับไทย ก็ตอนนี้เรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว" นายวรศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี เห็นว่าโครงการรถไฟทางคู่น่าลงทุนมากกว่าและเป็นประโยชน์มากกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง

ส่วนนายณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.). ที่ 30/2560 ออกมาเพื่อให้การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกเว้นบางเรื่อง รวมทั้งมีการทำข้อตกลงสัญญาคุณธรรม ซึ่งฟังดูดีมาก แต่ทุกวันนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดของบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งคำสั่ง คสช.ดังกล่าวเขียนครอบคลุมกฎหมายมากเกินไป ซึ่งไม่รู้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ได้มีตัวแทนจากสภาสถาปนิกเสนอขอให้นายกรัฐมนตรีรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งจาก TDRI, AIT, จุฬาฯ และอื่นๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เพราะทุกคนก็ปราถนาดีกับประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ