ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์ส่งออกหลัง FTA ญี่ปุ่น-สหภาพยุโรปมีผล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 15, 2017 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การเห็นชอบร่วมกันในหลักการของข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU-Japan FTA) ในเดือน ก.ค. 2560 อาจนำมาซึ่งเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากขนาดของเศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่นและ EU ที่คิดเป็นสัดส่วนถึงราว 28% ของขนาดเศรษฐกิจโลก และครอบคลุมจำนวนประชากรราว 639 ล้านคน เนื่องจากการเจรจา FTA ข้างต้นครอบคลุมหลากหลายประเด็น หากแต่ประเด็นสำคัญคงเป็นในส่วนของการลดกำแพงภาษีระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรป โดยแม้ว่าในปัจจุบัน ภาษีศุลกากรระหว่างญี่ปุ่นและ EU ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แต่ยังคงมีบางหมวดสินค้าที่มีมาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางด้านการค้าระหว่างกันอยู่ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรการปกป้องภาคเกษตรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น การเกิดขึ้นของ EU-Japan FTA ย่อมนำมาซึ่งการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ผ่านการเจรจาการค้าเสรีสำหรับสินค้าที่เคยมีมาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางด้านการค้า

จากข้อตกลงเบื้องต้นของ EU-Japan FTA ที่เผยแพร่ออกมานั้น ทางสหภาพยุโรปจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้นในการส่งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเข้าตลาดญี่ปุ่นจากเดิมที่ญี่ปุ่นเคยเรียกเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปจาก EU สูงถึงโดยเฉลี่ย 21.0% ทั้งนี้ ภายใต้ EU-Japan FTA สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของสหภาพยุโรปสัดส่วนกว่า 85% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 59 จะสามารถทยอยส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้อัตราภาษีนำเข้า 0%

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเองนับได้ว่าเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย และไทยเองก็นับว่ามีความสามารถในการแข่งขันในหมวดสินค้าข้างต้นในตลาดญี่ปุ่นได้ดีกว่าทาง EU โดยข้อได้เปรียบดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สินค้าเกษตรของไทยได้รับความนิยมและตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ในตัวผลิตภัณฑ์มากกว่า EU ไม่ว่าจะเป็นผักและผลไม้ที่บางส่วนจัดเป็นสินค้าพรีเมียมในญี่ปุ่น อาทิ มังคุด มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว รวมถึงสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์หรือสินค้าแปรรูปอื่นๆอย่าง เนื้อไก่และเนื้อไก่แปรรูป เนื้อปลาบดในรูปของซูริมิ (ชิกูวะ เนื้อปูเทียม เต้าหู้ปลา) และกุ้ง หรือแม้กระทั่งสินค้าประเภทอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทาน อย่างทูน่ากระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง และเครื่องแกงบรรจุกระป๋อง (อาทิ แกงเขียวหวานไก่ แกงเหลืองไก่)

ความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่สูงกว่า EU ดังกล่าวสามารถสะท้อนได้จากดัชนีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่ปรากฏในการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นในปี 59 (Revealed Comparative Advantage: RCA) อยู่ที่ 1.86 ซึ่งสูงกว่าของ EU ซึ่งอยู่ที่ 1.04 นอกจากนี้ ไทยยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรกับญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นและ GSP ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยในญี่ปุ่นได้เปรียบกว่าทาง EU อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีนำเข้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของญี่ปุ่นจากสหภาพยุโรป อาจส่งผลต่อความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative advantage) ของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยในตลาดญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับสินค้าจาก EU จากความได้เปรียบทางด้านภาษีศุลกากรของไทยที่ลดลงและอาจนำไปสู่ความท้าทายต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในระยะข้างหน้า

จากการวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย โดยการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยในสินค้าหมวดเกษตรและเกษตรแปรรูปกับทาง EU ในตลาดญี่ปุ่นรายโครงสร้างสินค้า 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 95% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปทั้งหมดไปยังญี่ปุ่น โดยวิธีวัดความแตกต่างของความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่ปรากฏระหว่างไทยกับ EU ควบคู่ไปกับทิศทางส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้านั้นๆ ในญี่ปุ่นของไทย พบว่า สินค้าส่งออกในหมวดนี้ของไทยราว 64.8% ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ ขณะที่ในส่วนที่เหลือราว 30% อาจได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มีนัยสำคัญ

สำหรับกลุ่มสินค้าที่คงไม่ได้รับผลกระทบจาก EU-Japan FTA โดยตรง สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าดังกล่าวได้ออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงและกลุ่มที่มีสัดส่วนทางการตลาดลดลงอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีหรือไม่มี EU-Japan FTA ก็ตาม

กลุ่มสินค้าที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำแปรรูป พืชผักสด ผักผลไม้แปรรูป รวมถึงข้าวและธัญพืช ซึ่งไทยมีความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่าทาง EU และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งทางการตลาดในญี่ปุ่น โดยสินค้าข้างต้นเป็นกลุ่มสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะและไทยมีศักยภาพในการแปรรูปให้ตรงกับรสนิยมชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี (Niche market) จึงทำให้ EU อาจไม่สามารถมาแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้ได้โดยตรง ส่วนเนื้อสัตว์และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ที่ยังไม่ได้ผ่านการแปรรูป (สด/แช่เย็น/แช่แข็ง) ถึงแม้ว่าไทยจะมีความสามารถทางการแข่งขันต่ำกว่า EU เล็กน้อย แต่อัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงมากในช่วงที่ผ่านมา จากการยกเลิกการระงับการนำเข้าไก่สดไทยในปี 2557 เป็นต้นมา ทำให้คาดว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะข้างหน้าจะกลับมาสูงกว่า EU ได้ นอกจากนี้ เนื้อสัตว์ที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นส่วนมากเป็นเนื้อไก่ ซึ่งเป็นสินค้าคนละประเภทกับที่ทาง EU ต้องการเจาะตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติมซึ่งได้แก่ เนื้อสุกรและเนื้อวัว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า EU อาจไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศอื่นแทนจนทำให้ส่วนแบ่งตลาด

กลุ่มสินค้าที่เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะมี EU-Japan FTA หรือไม่ก็ตาม ได้แก่ ปลาและอาหารทะเล น้ำตาลทรายและขนมที่ทำมาจากน้ำตาล ซึ่งบางส่วนเกิดจากการลดลงของการนำเข้าของญี่ปุ่นเอง อย่างเนื้อปลาทรายแดงสับละเอียด (Itoyori สำหรับทำซูริมิ) ที่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเริ่มนิยมบริโภคลดลง หรือเกิดจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งทางการค้ารายอื่น อาทิ น้ำตาลทรายที่ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าเพิ่มขึ้นจากออสเตรเลีย ภายหลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ในปี 2558 ที่ผ่านมา

กลุ่มสินค้าที่ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นเพิ่มเติม ได้แก่ ซอสปรุงรสและของปรุงแต่ง แป้งและเมล็ดธัญพืช รวมถึงอาหารเลี้ยงสัตว์และกากจากการผลิตอาหาร โดยภายใต้ EU-JAPAN FTA ที่จะเกิดขึ้น สินค้าของไทยที่มีโอกาสที่จะแข่งขันลำบากขึ้นและอาจสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด จะอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ EU มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่เป็นกลุ่มสินค้าที่เผชิญกำแพงภาษีจากญี่ปุ่นในระดับสูง ซึ่งการลดกำแพงภาษีของ EU จะยิ่งทำให้ EU มีความได้เปรียบในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ ของปรุงแต่งอาหาร (ภาษีนำเข้า 25-30% สำหรับอาหารปรุงแต่ง) แป้ง (ภาษีนำเข้า 16.5%) ดังนั้น ผลกระทบการเบี่ยงเบนทางการค้าจาก EU คาดว่าจะอยู่ในส่วนของสินค้าที่พอทดแทนกันได้ หรือมีสินค้าส่งออกคล้ายไทย อาทิ ของปรุงแต่งอาหาร หรืออาหารสัตว์เลี้ยงประเภทแมวและสุนัข

มูลค่าสินค้าที่ญี่ปุ่นอาจนำเข้าจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมแทนไทยนั้นจะอยู่ที่ราว 9.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นผลกระทบจากอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทแมวและสุนัขมากที่สุดราว 8.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือของปรุงแต่งอาหารและซอสราว 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กลุ่มสินค้าที่อาจเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ยากขึ้น โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่คล้ายคลึงกับของทาง EU เพิ่มเติมอาจลดลงด้วย โดยเฉพาะเนื้อสุกรแปรรูป ที่ยังคงเผชิญภาษีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูง 20% (ส่วนของนอกโควต้า) หรือ 16% สำหรับการนำเข้าในส่วนของโควต้า 1,200 ตัน/ปี ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกเนื้อสุกรแปรรูปไปญี่ปุ่นทั้งหมดราว 1.3% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป หรือคิดเป็นมูลค่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณราว 6,000 ตันต่อปี) ทั้งนี้ ไทยมีความพยายามในการเจรจาเพิ่มโควต้าเนื้อสุกรแปรรูปภายใต้กำแพงภาษี 16% จากเดิม 1,200 ตัน/ปีเป็น 12,000 ตัน/ปี แต่ยังคงไม่สำเร็จ

มูลค่าโอกาสที่อาจสูญเสียไปจากการเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ยากขึ้นอยู่ที่ราว 54.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากการเจรจาเพิ่มโควต้าเนื้อสุกรแปรรูปไม่ได้ผล โดยแบ่งเป็นส่วนต่างของอัตราภาษีศุลกากรที่ไทยต้องจ่ายนอกโควต้าเนื้อสุกรแปรรูป 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกเนื้อสุกรแปรรูปเพิ่มเติมที่ไทยต้องการอีก 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากการวิเคราะห์ข้างต้นทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบของการเบี่ยงเบนทางการค้าต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย จากการที่ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากสหภาพยุโรปแทนไทยนั้นจะเกิดขึ้นในส่วนของสินค้าที่ EU สามารถผลิตทดแทนการนำเข้าจากไทยได้ บวกกับโอกาสที่อาจสูญเสียไปจากการเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ยากขึ้น โดยจากการประเมินเบื้องต้นนั้น ผลกระทบจาก EU-Japan FTA กับไทยอยู่ที่ราว 64.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 1.6% ของการนำเข้าสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นจากไทยหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 0.3% ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมดของญี่ปุ่นซึ่งนับว่าเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าภาคการเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยส่วนใหญ่มีความสามารถทางการแข่งขันในระดับสูงกว่า EU และมีประเภทสินค้าที่ส่งออกที่ค่อนข้างแตกต่างกัน อีกทั้งสินค้าส่งออกหลักส่วนใหญ่ของไทยยังคงมีทิศทางของส่วนแบ่งทางการตลาดในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี สินค้าบางประเภทของไทยในตลาดญี่ปุ่นเริ่มมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรปรับกลยุทธ์การส่งออก โดยเน้นการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์กระแสการบริโภคของชาวญี่ปุ่นมากขึ้น อาทิ เกษตรอินทรีย์และผักปลอดสารพิษ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารไทยบรรจุกระป๋องหรืออาหารไทยพร้อมรับประทานที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ ผัดไทยหรือผัดกะเพราพร้อมทาน เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ผ่านการให้ความสำคัญต่อการเจรจาลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) อาทิ การจำกัดขนาดของสัปปะรดที่ไม่เกิน 900 กรัม (ขนาดสัปปะรดไทยส่งออกเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม) หรือการกำหนดโควตานำเข้าเนื้อสุกรแปรรูป นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ค่อนข้างเข้มงวด อาทิ วัตถุดิบปลาทูน่าจะต้องมาจากเรือที่จดทะเบียนไว้กับ Indian Ocean Tuna Commission (IOTC) เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทยในช่วงที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ