(เพิ่มเติม) 7 สมาคมเหล็ก ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาเหล็กจีนดั๊มพ์ตลาด-หนุนใช้สินค้าในประเทศในโครงการขนาดใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 28, 2017 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย กังวลเครื่องจักรเก่าล้าสมัยจากจีนทะลักเข้าไทยกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียกร้อง สมอ.เร่งออกมาตรฐานเหล็กโครงสร้าง Prefab จากจีนที่อาศัยช่องโหว่พิกัดศุลกากรเข้ามาดั๊มพ์ตลาดในไทย และขอให้ภาครัฐส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตภายในประเทศในโครงการลงทุนขนาดใหญ่

7 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย

ตัวแทนผู้ประกอบการ ระบุว่า ที่ผ่านมาแม้ 7 สมาคมฯจะมีเวทีในการหารือกับภาครัฐหลายหน่วยงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ไปได้หลายเรื่อง แต่ยังคงมีอีกหลายปัญหาที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นายทนงศักดิ์ ภูมินา อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่กำลังไล่ปิดโรงงานขนาดเล็กทั่วประเทศที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยและก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลให้เครื่องจักรเก่าจากประเทศจีนเหล่านี้ทะลักเข้ามาในประเทศไทย

"ขณะนี้ผู้ผลิตบางรายเริ่มนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากจีน เพราะราคาถูกกว่าเครื่องจักรนำเข้าจากยุโรปมาก เรื่องนี้คงต้องฝากระทรวงอุตสาหกรรมเร่งพิจารณาออกมาตรการป้องกันการนำเข้าเครื่องจักรเก่าที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยจากจีนโดยด่วน โดยเฉพาะเตาหลอมแบบ Induction Furnace ซึ่งด้อยประสิทธิภาพในด้านการประหยัดพลังงานและยังก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก การให้อนุญาตจัดตั้งโรงงานเหล็กใหม่ในอนาคต ควรมีการกำหนดในเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและป้องกันผลกระทยด้านสิ่งแวดล้อม" นายทนงศักดิ์ กล่าว

นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเหล็ก เรียกร้องให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณากำหนดมาตรฐานเหล็กโครงสร้างกึ่งสำเร็จรูป (Prefabrication) โดยเร็ว เนื่องจากช่วงม.ค.-ส.ค.60 มีการนำเข้า Prefabrication จากจีนกว่า 6.4 หมื่นตัน ซึ่งผู้ส่งออกจีนอาศัยช่องโหว่ของพิกัดศุลากรนำเข้ามา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนภายในประเทศในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบ

นอกจากนี้ ได้เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน (1.79 แสนล้านบาท) โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 (4.4 หมื่นล้านบาท) เป็นต้น

นายนาวา จันทนสุรคน ตัวแทนกลุ่ม 7 สมาคมฯ กล่าวว่า ปัญหาการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเหล็กทั่วโลก ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศยังคงต้องใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของตน โดยในช่วงม.ค.-ก.ย.60 มีการเปิดไต่สวนและบังคบใช้มาตรการทางการค้าสินค้าเหล็กมากถึง 82 มาตรการ โดยประเทศที่ฟ้องใช้มาตรการมากที่สุด คือ สหรัฐฯ 16 มาตรการ และประเทศที่ถูกฟ้องมากที่สุด คือ จีน 43 มาตรการ

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศเองก็ได้ขับเคลื่อนมาตรการทางการค้าอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การหลีกเลี่ยงอากรทุ่มตลาด (Anti-Circumvention) อีกด้วย ซึ่งจะช่วยการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของประเทศไทยมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

"มาตรการ AD ที่อเมริกา 300-500% แต่ของไทยแค่ 10% 20% ก็ยังคุ้ม พอไทยมีมาตรการ AD ก็ส่งเหล็กแผ่นรีดร้อนไปทำที่เวียดนามแล้วก็ส่งกลับมาเพื่อหลบเลี่ยงเราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการ Anti-Circumvention ซึ่งกำลังผลักดันกระทรวงพาณิชย์ให้แก้ไขพ.ร.บ.ตอบโต้การอุดหนุนให้มีบทบัญญัติตอบโต้การหลบเลี่ยงอากร ซึ่งขณะนี้ผ่าน ครม.แล้ว และเรื่องค้างอยู่ที่กฤษฎีกามา 4 เดือนแล้ว คาดว่าอาจจะได้เห็นในปีหน้า

นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ.มาตรการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซึ่งผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)แล้ว รอบังคับใช้คาดว่าน่าจะหลังพ.ร.บ.กรมศุลกากรฉบับใหม่ แล้วก็ยังมีการสุ่มตรวจตัวอย่างของ สมอ. ซึ่งจะเข้มงวดเรื่องสินค้าเหล็กนำเข้าขึ้น....เราเชื่อว่าหลังมีมาตรการเหล่านี้ น่าจะทำให้ปัญหาอุปสรรคต่างๆของอุตสาหกรรมเหล็กน่าจะเบาบางลง" นายนาวา กล่าว

นายนาวา กล่าวถึงแนวโน้มการใช้เหล็กในปี 60 นี้น่าจะขยายตัวประมาณ 5% จากอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน เนื่องจากเป็นรอบที่ต้องเปลี่ยนแท่นขุดเจาะ และใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการใช้เหล็กในประเทศเข้ามาแทรกอยู่ประมาณ 30-40% ของจำนวนเหล็กทั้งหมดที่ใช้ ที่เหลือ 60% เป็นเหล็กนำเข้า

โดยปี 59 ปริมาณการใช้อยู่ที่ 19 ล้านตัน แบ่งเป็นเหล็กที่ผลิตในประเทศประมาณ 8 ล้านตัน และอีก 11 ล้านตันเป็นเหล็กนำเข้า ซึ่งใน 11 ล้านตันมีทั้งเหล็กที่ได้มาตรฐาน เหล็กไม่ได้มาตรฐาน และเหล็กเลี่ยงอากร ซึ่งปัจจุบันไทยนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 1 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อันดับ 2 คือ จีน และอันดับ 3 คือเกาหลีใต้

ขณะที่เวียดนามมีปริมาณการใช้เหล็กสูงถึง 23 ล้านตัน และมีแนวโน้มการขยายตัวเร็ว อาจจะได้ถึง 2 digits ต่อปี

ส่วนราคาเหล็กในตลาดโลกปีนี้ดีกว่าปีก่อน เนื่องจากโรงงานในจีนถูกปิดไปทำให้ซัพพลายหายไปการส่งออกจากจีนก็น้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ