สศก.เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตร ต.ค.ร่วง 2.42% คาด พ.ย.วูบต่อเนื่อง จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2017 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือน ต.ค.60 หดตัวจากการปรับตัวลดลงของราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่ ขณะที่ราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนาไม จะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค คาดแนวโน้มรายได้เกษตรกรในเดือน พ.ย.60 ยังลดลงต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือน ต.ค.60 ลดลง 2.42% จากเดือน ต.ค.59 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ราคาจึงเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ, ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง และสุกร เนื่องจากภาวะฝนตกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคชะลอตัว

ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการร่วมมือกันระหว่าง 3 สมาคมมันสำปะหลังในการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับส่งออกมันเส้น โดยไม่ขายตัดราคากัน, ไก่เนื้อ เนื่องจากปริมาณผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดสอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และกุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อการส่งออกสูงขึ้น

ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ต.ค.60 ลดลง 1.57% จากเดือน ต.ค.59 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และลองกอง ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม

ทั้งนี้ ภาพรวมรายได้ของเกษตรกรวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรเดือน ต.ค.60 ลดลง 3.96% จากเดือนต.ค.59 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง

หากมองผลวิเคราะห์แนวโน้มดัชนีสินค้าเกษตร พบว่า เดือน พ.ย.60 แนวโน้มรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าจะลดลง 4.61% จากเดือน พ.ย.59 เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง 5.19% โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.61% โดยสินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

แนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญเดือน พ.ย.60 พบว่า ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. และกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสภาเกษตรกร ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่แท้จริงตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด พบว่า ข้าวหอมมะลิ ปี 2560/61 มีผลผลิตประมาณ 7.16 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจรที่ตั้งไว้, ข้าวเหนียวนาปี ปี 2560/61 มีผลผลิตประมาณ 5.73 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้แนวโน้มราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายจำนำยุ้งฉางภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกำหนดราคารับจำนำที่ 90% ของราคาเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ 10,800 บาทต่อตัน ซึ่งได้รับการตอบรับดีโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีโรงสีนอกพื้นที่เข้ามารับซื้อข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน ส่งผลให้ราคาดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า ดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวปริมาณฝนลดลง ส่งผลให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นที่ลดลง ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านโมเดลไตรภาคีเชื่อมโยง รับซื้อผลผลิต และโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรเพื่อการรวบรวมผลผลิต

มันสำปะหลัง คาดว่าดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตมันเส้นสะอาดกับโรงงานเอทานอลและมีการเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์

กุ้งขาวแวนนาไม ดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.60 เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ราคาขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาเดือน พ.ย.60 คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวและอาจปรับตัวลงจากเดือน ต.ค.60 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไข่ไก่และสุกร จากผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เดือน ธ.ค.60 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรคาดว่าอยู่ในระดับทรงตัว ด้านดัชนีราคาคาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค.59 ขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และสับปะรด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ