สศก.เผยดัชนีรายได้เกษตรกรปี 60 เพิ่มขึ้น 2.97% คาดปี 61 ยังโตต่อเนื่อง หลังผลผลิตมีทิศทางดีขึ้นจากภัยแล้งคลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 14, 2018 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้วิเคราะห์ดัชนีรายได้เกษตรกรในปี 2560 พบว่า เพิ่มขึ้น 2.97% เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งเป็นผลจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.87% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลง 2.74% โดยเมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกรในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผลเพิ่มขึ้น 5.42% ซึ่งรายได้เกษตรกรมาจากสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ยางพารา อ้อยโรงงาน ทุเรียน และมังคุด ขณะที่รายได้เกษตรกรในหมวดปศุสัตว์ ลดลง 4.03% เนื่องจากผลผลิตสินค้าปศุสัตว์หลัก ทั้งไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่อ่อนตัวลง และหมวดประมง (กุ้งขาวแวนนาไม) ลดลง 1.66%

หากพิจารณาช่วงครึ่งแรกของปี 2560 พบว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 15.72% โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 9.89% และ 4.46% ตามลำดับ ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 พบว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลง 5.62% โดยดัชนีผลผลิตสินค้าสินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ 2.97% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว 9.61%

"หากมองถึงทิศทางสินค้าเกษตรช่วงปี 2560 จะเห็นได้ว่ามีทิศทางดีขึ้นกว่าปี 2556 – 2559 เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาในเรื่องภัยธรรมชาติที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่การผลิตทางการเกษตรเป็นวงกว้าง ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศ ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก มีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิด อาทิ ข้าวนาปรัง พืชไร่ และผลไม้ต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างมากและมีผลผลิตต่อไร่ลดลง"เลขาธิการ สศก. กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย โดยการผลิตทางการเกษตรได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2560 และราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ในช่วงปี 2555 – 2560 พบว่า ค่อนข้างผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสินค้าเกษตรหลายชนิดต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นสำคัญ อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดังนั้น ปัจจัยหลักที่กำหนดราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ จึงเป็นปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องราคาข้าวที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากส่วนหนึ่งถูกกดดันมาจากสต็อกข้าวของรัฐบาลที่มีปริมาณมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงปลายปี 2560 สามารถระบายสต็อกข้าวได้หมด ส่งผลให้ราคาข้าวเริ่มปรับตัวดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2561 สศก. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและยังมีน้ำต้นทุนเหลือมากพอสำหรับการทำเกษตรจากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเพาะปลูกทำได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เดินหน้าแก้ปัญหาผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อาทิ ดำเนินการส่งเสริมและปรับเปลี่ยนผลผลิตให้เกษตรกรได้รับรู้และตัดสินใจที่จะผลิตตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map โดยผ่าน ศพก. 882 ศูนย์ และใช้ตลาดนำการผลิตในรูปแบบการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ โรงงานแปรรูป และร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนโยบายและมาตรการเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ และเน้นการดำเนินการเป็นทีมบูรณาการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้ครบทุกด้าน รวดเร็ว และทันต่อความต้องการมากยิ่งขึ้น ส่งผลดัชนีรายได้ภาคเกษตรในปี 2561 ยังคงขยายต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ