สศก. ชี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบภาคเกษตรน้อย แต่อาจมีผลต่อต้นทุนบางสาขาที่ใช้แรงงานมากช่วงฤดูเก็บเกี่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2018 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 5-22 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพื่อใช้สำหรับผลิตสินค้าและบริหารของแต่ละสาขาในระบบเศรษฐกิจ ในส่วนภาคการเกษตร มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิต 17.4% โดยเฉลี่ยใช้แรงงานเป็นหลักในกิจกรรมการผลิต ขณะที่ภาคบริการ มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิต 20.2% โดยภาคบริการเฉลี่ยใช้แรงงานคนมาก เพราะต้องสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในการให้บริการ และภาคอุตสาหกรรม มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิต 9.0% โดยต้นทุนแรงงานไม่มาก เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิตสินค้า

ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก.กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมากนัก แต่อาจจะกระทบต่อค่าจ้างแรงงานในช่วงที่เป็นฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับรายได้ของภาคครัวเรือนเกษตรที่มีอาชีพแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ