(เพิ่มเติม) รมว.คมนาคม เล็งเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่เข้าครม.ราวพ.ค.-มิ.ย. คาดเริ่มก่อสร้างกลางปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 4, 2018 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ" ว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราวเดือน พ.ค.-มิ.ย.61 ขออนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เพิ่มเติมอีก 2 สาย โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 3-4 ปี

เส้นทางแรก เชื่อมเหนือ-ใต้ จากเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ส่วนเส้นทางที่สอง เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก จากนครพนม-แม่สอด โดยเบื้องต้นจะเริ่มสร้างทางตะวันออกจากมุกดาหาร-กาฬสินธุ์-มหาสารคาม-บ้านไผ่ก่อน ส่วนช่วงบ้านไผ่-นครสวรรค์ หรือบ้านไผ่-พิษณุโลกนั้นต้องดูผลการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ

"ทั้ง 2 เส้นทาง มีโครงข่ายถนนอยู่แล้ว แต่เพื่อป้องกันปริมาณจราจรที่แออัดในอนาคต จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างเพิ่มเติม โดยจะเสนอขออนุมัติจาก ครม.ราวเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ถ้าอนุมัติก็คงเริ่มสร้างได้กลางปีหน้า" นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมกำลังจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 2 โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นในการศึกษาความเหมาะสมของโครงข่ายย่อยเชื่อมโยงรถไฟฟ้า 10 สายหลักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถรเดินทางได้ไม่ติดขัดกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน คาดว่าการจัดทำแผนแม่บทฉบับดังกล่าวจะเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้แต่คงก่อสร้างไม่ทัน และต้องให้รัฐบาลชุดหน้ามาดำเนินการต่อ

ปัจจุบันประเทศไทยมีถนนระยะทาง 4.61 แสนกิโลเมตร เป็นอันดับสามของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอและมีสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยถนนที่มีอยู่แยกเป็นถนนของกรมทางหลวง 7 หมื่นกิโลเมตร, ถนนของกรมทางหลวงชนบท 4.7 หมื่นกิโลเมตร, ทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวงและทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 390 กิโลเมตร ส่วนที่เหลืออีก 3.4 แสนกิโลเมตรเป็นทางหลวงท้องถิ่น สำหรับปัญหาถนนมีสภาพชำรุดส่วนใหญ่มาจากการบรรทุกน้ำหนักเกินเกือบเท่าตัว

"การขนส่งสินค้า 80% ใช้ถนนเป็นหลัก จึงอยากให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎกติกา ไม่บรรทุกเกิน" นายอาคม กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างใช้แผนพัฒนาโลจิสติกส์ฉบับที่ 3 นอกจากนี้ยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีแผนงานในทุกระดับลงไปถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยเป้าหมายสำคัญคือ การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม, การลดมลภาวะ, การให้บริการเข้าถึงทุกกลุ่ม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบจีพีเอส ระบบเตือนคนขับง่วง ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 58 รัฐบาลนี้ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 17 โครงการ

นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะทาง 3 พันกิโลเมตร จะช่วยเพิ่มกำลังความสามารถในการขนส่งสินค้า ทดแทนการขนส่งสินค้าทางถนน

การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากปัจจุบันที่มีระยะทางอยู่ 100 กิโลเมตร จากเป้าหมาย 464 กิโลเมตร ซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจาก ครม.

การขยายสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เช่น สนามบินอู่ตะเภาให้รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน/ปี ภายใน 20 ปี ส่วนสนามบินภูมิภาคอีก 28 แห่งกำลังทยอยขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพให้สามารถรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ใช้ในภารกิจเพื่อความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่

"บางโครงการอาจดูล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แบบก่อสร้างใช้ภาษาจีนกำกับ ไม่เป็นสากล หากเราปล่อยให้จีนดำเนินการไปเลย เราจะไม่ได้รับองค์ความรู้ และไม่มีการใช้วัสดุในประเทศมากถึง 90%" รมว.คมนาคม กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวคิดที่จะทำเส้นทางแยกการขนส่งสินค้าและขนส่งคนออกจากกันเพื่อลดความแออัด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องปริมาณจราจรเกินกำลังที่ถนนสี่เลนจะรองรับได้ โดยอนุมัติการก่อสร้างช่องทางเพิ่มเติม เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่สองทางด่านแม่สอด ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าได้ 15-20%, สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดบึงกาฬไปฝั่งประเทศลาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ